พระราชจริยวัตรและพระราชอัธยาศัย
   “...ด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ได้ประทานข่าวเล่ามาเป็นเรื่องส่วนพระองค์ว่า บัดนี้ พระองค์ท่านได้ชอบรักกันโดยเที่ยงธรรมกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ นักเรียนของสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า พระบรมราชเทวี ซึ่งได้ออกมาศึกษาวิชาแพทย์พร้อมกับพระยาชนินทร์ภักดีที่สหรัฐอเมริกา เมื่อศก 2460 และเวลานี้อายุประมาณ 18 ปี แต่ยังไม่ทรงคิดจะแต่งงานจนกว่านางสาวสังวาลย์จะได้เล่าเรียนอยู่ต่อไปอย่างน้อยอีกปีเศษ
  ข้าพระพุทธเจ้าทราบเกล้าฯ ดังนี้แล้ว ได้ไปเฝ้าท่านที่เมืองบอสตัน เพื่อเป็นโอกาสจะได้กราบทูลถามความละเอียดต่อไป ก็มีความยินดีที่ได้ฟังรับสั่งว่า พระองค์ท่านทรงตระหนักแน่พระทัยในความดีของนางสาวสังวาลย์ว่าเป็นผู้ประกอบไปด้วยคุณสมบัติวิชาความรู้ความสามารถ เฉลียวฉลาดต้องพระทัยทุกอย่าง ทรงหวังว่าคงจะเป็นคู่ค้ำชูพระเกียรติไม่ผิดไปต่อพระราชนิยมได้ แม้หากว่าจะขาดอยู่เพียงพระยศ แต่เมื่อมีความดีแล้ว ยศก็ย่อมเป็นของที่ควรยกขึ้นได้ภายหลัง...”
  ความข้างต้นเป็นตอนหนึ่งในหนังสือของพระยาประภากรวงศ์ อัครราชทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่ากระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2461 เพื่อแจ้งข่าวการตัดสินพระทัยของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ที่จะทรงเลือกสมเด็จย่าหรือนางสาวสังวาย์ ในเวลานั้นเป็นคู่ชีวิต ซึ่งต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนสงขลานครินทร์ ก็ได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมราชชนนี คือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีความตอนหนึ่งแสดงถึงความมั่นพระทัยในคุณงามความดีของนางสาวสังวาลย์ผู้ซึ่งจะทรงร่วมชีวิตด้วยว่า
“สังวาลย์เป็นกำพร้า...แต่งงานแล้วก็มาใช้นามสกุลหม่อมฉัน หม่อมฉันไม่ได้เลือกเมียด้วยสกุลรุนชาติ ต้องเกิดเป็นอย่างนั้น ต้องเกิดเป็นอย่างนี้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ หม่อมฉันเลือกคนดี ทุกข์สุขเป็นเรื่องของหม่อมฉันเอง”
  เอกสารและถ้อยความทั้งสองกล่าวได้ว่าเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เพราะถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเป็นที่รับทราบและยอมรับในการก้าวเข้าสู่ฐานะและภารกิจใหญ่หลวงที่นางสาวสังวาลย์  ในครั้งนั้น ต้องเผชิญต่อไปภายภาคหน้า กาลเวลาที่หมุนเวียนผ่านไป วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ การตัดสินพระทัยของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ เมื่อ 70 กว่าปีก่อนนั้น เป็นการตัดสินพระทัยที่เป็นคุณแก่ชาติบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง นอกเหนือจากการพระราชทานพระกำเนิดพระโอรส ผู้ซึ่งได้ทรงเป็นพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าผู้ทรงคุณธรรมล้ำเลิศของราชอาณาจักรไทยถึงสองพระองค์แล้ว สมเด็จย่ายังได้ทรงดำเนินพระชนมชีพด้วยการปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณอันประเสริฐแก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอยู่เป็นนิจตลอดพระชนมชีพ
    กล่าวได้ว่า สมเด็จย่าทรงเป็นสตรีที่มีคุณลักษณะพิเศษยากที่จะพบในสตรีหรือปัจเจกชนใด ยามที่เสด็จสู่สวรรคาลัย ทรงได้รับความอาลัยรัก ความรู้สึกทุกข์โทมนัสและเสียงร่ำไห้จากพสกนิกรทั้งประเทศ งานพระบรมศพของพระองค์ มีราษฎรหลั่งไหลจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาถวายบังคมพระบรมศพเป็นเรือนล้าน และต่างร่วมกันสำแดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วยการจัดพิธีและกิจกรรมต่างๆ ก็ดี การบริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลในกิจการต่างๆ ก็ดี ล้วนแต่เป็นเครื่องหมายแห่งความรักและภักดีที่อาณาประชาราษฎร์มีต่อพระองค์อย่างท่วมท้น
  หากจะประมวลพระราชจริยวัตร พระราชอัธยาศัย แนวพระราชดำริ พระปรีชาญาณและพระราชกรณียกิจ ที่ทรงปฏิบัติตลอดพระชนมชีพมากล่าว ก็คงไม่สามารถสรรหาถ้อยคำใดมาพรรณนาพระเกียรติคุณได้ทั้งหมดทั้งสิ้น จึงได้อัญเชิญมาแต่เพียงสังเขป เพื่อเป็นสิ่งระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรและชาติบ้านเมืองตราบจนเวลาห้วงสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ

 

ความเอื้ออาทร
  พระราชอัธยาศัยประการหนึ่งของสมเด็จย่า ซึ่งเป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วไป ก็คือ ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเอื้ออารีและอาทรแก่บุคคลทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเสด็จแห่งหนตำบลใด เช่น ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทางทะเลคราวหนึ่งๆ มักจะประทับแรมไปในเรือพระที่นั่งที่กองทัพเรือจัดถวายเป็นเวลานานแรมเดือน ด้วยพระราชจริยวัตรอันงามและน้ำพระราชหฤทัยเอื้ออาทร ยังความปลาบปลื้มซาบซึ้งใจแก่ผู้ได้เข้าเฝ้าฯ หรือตามเสด็จถวายงานยิ่งนัก ผู้บังคับหมวดเรืออุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ซึ่งได้มีโอกาสรับเสด็จระหว่างประทับบนเรือ “จันทร” ในระยะตั้งแต่ พ.ศ. 2510 คือ นาวาเอกพิเศษ กมล จิตต์จำนง ได้ให้สัมภาษณ์แก่คณะผู้จัดทำอนุสาร อสท. เมื่อ พ.ศ. 2533 เล่าถึงความประทับใจต่างๆ ที่ทรงมีเมตตาและเอื้ออาทรต่อราษฎรและข้าราชบริพารทุกคนที่ผ่านสายพระเนตร และทรงจำชื่อผู้เคยรับเสด็จได้อย่างแม่นยำ

     “...ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นกระผมแก้มบวมโย้ เพราะปวดฟัน ทรงรับสั่งว่า “เมื่อถึงสิงคโปร์แล้วไปหาหมอนะ เสียสตางค์เท่าไหร่มาคิดที่ฉัน” ผมละปิติต่อการที่ทรงห่วงใยความเจ็บปวดนั้น หายเป็นปลิดทิ้งไปเชียว หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือนต่อมา วันที่พระองค์ท่านพระราชทานเลี้ยงเพื่อขอบคุณคณะทหารเรือที่รับเสด็จที่วังสระปทุม เมื่อทรงพระดำเนินผ่านหน้าผม พระองค์ท่านทรงเรียกชื่อผมแล้วรับสั่งว่า “นายกลม ปวดฟันหน่ะ หายดีแล้วหรือ” หลังจากรับพระราชทานเลี้ยงแล้วพระองค์ท่านยังพระราชทานพระฉายาลักษณ์ที่มีพระนามาภิไธยเป็นของที่ระลึกอีกด้วย นับเป็นพระกรุณาธิคุณยิ่ง...”

  ระหว่างประทับแรมในจังหวัดต่างๆ เพื่อทรงเยี่ยมราษฎร บางครั้งสมเด็จย่าจะทรงพระดำเนินไปยังเรือนพักของข้าราชบริพาร เพื่อทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองว่าแต่ละคนมีที่พักแรมเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เริ่มตั้งแต่ที่พักของข้าราชบริพารผู้ใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้ที่ประทับเรือนพักแพทย์ พอ.สว. ในขบวนเสด็จ ราชองครักษ์ นายทหารศรภ. นักบินประจำเฮลิคอปเตอร์และข้าราชบริพารอื่นๆ โดยทรงตรวจดูเข้าไปจนถึงภายในอาคารหรือแม้แต่ห้องพัก นอกจากนั้นยังเสด็จเยี่ยมโรงครัวด้วย ทรงสนพระราชหฤทัยซักถามจำนวนคนที่ตามเสด็จว่ามีเท่าใด ออกไปจ่ายกับข้าวที่ไหน คนครัวมีพอหรือไม่ บางครั้ง ก็ทรงเปิดภาชนะดูว่ามีอาหารอะไร อาหารมีกี่อย่าง เขารับประทานกันได้ไหม และยังได้มีพระมหากรุณาธิคุณกับคณะแม่ครัวตามสถานที่ต่างๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมเสมอ โดยก่อนจะเสด็จจากไปทรงงานในกลุ่มจังหวัดอื่นๆ จะพระราชทานสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ เช่น เข็มกลัด เสื้อ ผ้าถุง ผ้าซิ่น เสื้อหนาว ผ้าพันคอและอื่นๆ โดยทรงเลือกพระราชทานตามความเหมาะสมกับแต่ละบุคคล

  ส่วนทหารและตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายอารักขาหน้าที่ประทับในยามค่ำคืน ที่อากาศหนาวเย็น พระองค์ท่านก็ได้เคยทรงต้มน้ำกาแฟพระราชทาน เล่ากันว่า เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประทับบนภูกระดึง จังหวัดเลย สมเด็จย่าได้ทรงพระดำเนินเยี่ยมทหาร ตำรวจ ทอดพระเนตรว่าที่นอนของเขาอบอุ่นพอหรือไม่ ทรงแนะนำให้หาฟางมาปูรองและใช้ผ้าพลาสติกคลุมทับ เพื่อให้ได้ความอบอุ่นจากใบไม้ และเวลากลางดึกซึ่งอากาศหนาวเย็นจัด หากทรงได้ยินเสียงตำรวจไอ ก็จะโปรดให้ข้าราชสำนักบ้าง นายแพทย์ประจำพระองค์บ้าง นำยาแก้ไอไปให้ บางวันเสด็จไปพระราชทานเอง

  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึงพระราชจริยวัตรและพระราชอัธยาศัยอันงดงามของสมเด็จพระอัยกี ในการพระราชทานสัมภาษณ์แก่คณะผู้จัดทำหนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ของโครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คราวหนึ่งว่า เมื่อ พ.ศ. 2507 ขณะทรงมีพระชนมายุประมาณ 9 พรรษา ได้ตามเสด็จสมเด็จพระอัยกีไปประพาสป่าเขา หลังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ทรงจำรายละเอียดในการเดินเที่ยวไม่ได้ แต่ทรงจำได้อย่างแม่นยำว่า

  “เวลาเดินเล่นกันไปเห็นขยะ เศษกระดาษ ท่านก็เก็บ พวกตามเสด็จก็วิ่งเก็บกัน นอกจากจะทิ้งไม่ได้แล้ว เศษขยะที่คนอื่นทิ้งก็ต้องเก็บ เพื่อให้สถานที่สะอาด เมื่อไปเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดน ทรงสอนว่า ไม่ใช่ว่าไปถึงแล้วจะกินๆ ต้องดูก่อนว่าตำรวจตระเวนชายแดนเขาได้ข้าวห่อครบกันทุกคนหรือไม่ ท่านให้ช่วยแจกข้าวห่อก่อน...”

  ในกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จย่า เกี่ยวกับงานของหน่วยแพทย์ พอ.สว. ซึ่งยังคงอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรถึงน้ำพระทัยเอื้ออาทรต่อราษฎร ผู้เจ็บป่วยทุกข์ยาก มีความตอนหนึ่งว่า

  “ทุกคนตั้งใจทำงานกันดี และสามัคคีกัน แต่ทุกอย่างที่ พอ.สว. ทำมานี้ ไม่ได้อะไรเป็นวัตถุ ได้แต่สิ่งที่เป็นกุศล เมื่อได้กุศล ฉันก็เชื่อว่าคงจะทำให้ทุกๆ ท่านพอใจ สบายใจ การที่จิตใจสบาย ฉันเชื่อว่าทำให้ร่างกายสบายด้วย งาน พอ.สว. ที่ฉันทำไปและได้ประโยชน์ก็เพราะท่านทุกคน และอีกหลายคนที่ไม่ได้มาอยู่ในที่นี้ ได้มีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก เช่น ที่ฉันได้พบมา พบคนตาเป็นต้อแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรจนตาบอด ฉันก็รู้ว่าหมอรักษาโรคตามีน้อย ไม่ได้สัดส่วนกับผู้เป็นโรคตาอยู่ในที่ทุรกันดารห่างไกลหมอที่รักษาโรคตา และผู้ป่วยเองก็ไม่มีความรู้ เหล่านี้ทำให้เขาต้องเป็นคนที่ตามืดมนแล้ว อนาคตก็มืดมนไปด้วย ฉันสงสารเขาเหล่านั้นมาก แต่ลำพังฉันก็ไม่อาจช่วยเขาได้หมด ดังนั้นการทำงาน พอ.สว. นี้อย่าไปคิดว่าทำเพื่อฉัน ขอให้ทำเพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยที่อยู่ห่างไกล ช่วยด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ช่วยให้เขาได้คลายจากความทุกข์ได้บ้าง”

 

ความเป็นผู้ครองสติมั่นคงเข้มแข็ง

  ความพลัดพรากจากผู้เป็นที่รักและเปรียบประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของชีวิตได้มาสู่สมเด็จย่าอีกวาระหนึ่ง หลังจากที่ต้องสูญเสียพระชนกชูและพระชนนีคำเมื่อยังทรงพระเยาว์ก็คือ การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก เมื่อ พ.ศ. 2473 ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระชนมายุเพียง 38 พรรษา ในขณะนั้นสมเด็จย่าทรงมีพระชนมายุ 29 พรรษา ต้องทรงรับพระราชภาระอบรมเลี้ยงดูพระโอรสธิดา 3 พระองค์ ซึ่งยังทรงพระเยาว์นัก มีพระชนมายุ 6 - 4 -2 พรรษา ตามลำดับ แต่เพียงพระองค์เดียว ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ท่ามกลางพระประยูรญาติของพระสวามี ซึ่งเป็นเจ้านายและพระราชวงศ์ชั้นสูง ในขณะที่พระองค์ทรงเป็นสตรีสามัญชน เป็นลูกกำพร้า บรรดาญาติมิตรข้างฝ่ายพระชนกพระชนนีก็มีอยู่ไม่มากนัก และพระองค์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ไปประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศ โดยทรงดำรงพระชนมชีพอย่างเรียบง่ายในต่างแดนเป็นส่วนใหญ่

  หากแต่สมเด็จย่า ทรงเป็นสตรีที่มีคุณลักษณะพิเศษไม่ว่าจะเป็นด้านพระราชอัธยาศัย พระราชจริยวัตร พระสติปัญญา และกำลังพระราชหฤทัยที่เข้มแข็ง จึงทรงสามารถนำครอบครัวน้อยๆ ของพระองค์ผ่านห้วงเวลาแห่งความทุกข์โทมนัสและปัญหาอุปสรรคทั้งปวงไปได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้ชาวไทยได้มีพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐสุดถึงสองพระองค์ก็ด้วยสองพระหัตถ์และพระสติปัญญาที่ทรงโอบอุ้มอภิบาล  มีการเล่าขานสืบต่อกันมาถึงอนุชนรุ่นหลังด้วยความประทับใจ ชื่นชมและสรรเสริญในความมีสติปัญญาเลิศล้ำของสมเด็จย่าว่า เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกสิ้นพระชนม์นั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นห่วงชีวิตในอนาคตของพระสุณิสาและพระราชนัดดามาก เมื่อสมเด็จย่าทรงพาพระโอรสองค์สุดท้องขึ้นเฝ้า สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงขอสัญญาจากสมเด็จย่าว่า พระองค์จะไม่เปลี่ยนแปลงทางเดินของชีวิต และสมเด็จพระพันวัสสาฯ ก็จะทรงสัญญาว่าจะไม่ทรงเข้าไปก้าวก่ายในการอภิบาลพระราชนัดดาทั้งสามพระองค์ สมเด็จย่าทรงกันแสง พร้อมกับกราบบังคมทูลว่า พระองค์ไม่ทรงทราบได้ว่าทรงมีเวรมีกรรมไว้ที่ใดบ้าง

  เมื่อได้ทรงฟังดังนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงสบายพระราชหฤทัยมากทรงแน่พระราชหฤทัยว่า พระสุณิสาจะไม่ทรงเปลี่ยนวิถีชีวิต และได้ตรัสกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระราชธิดาเลี้ยงมีความว่า

   “ได้ทอดพระเนตรแม่หม้ายนักต่อนักแล้ว เมื่อเป็นแม่หม้ายใหม่ๆ ก็ร้องไห้คร่ำครวญจงรักภักดีแต่พอไม่กี่วันก็ได้ใหม่” รับสั่งชมพระสุณิสาว่า “...สังวาลย์เป็นคนฉลาด แม้กำลังตกอยู่ในความทุกข์ การจะตอบก็ยังมีสติไตร่ตรองก่อนตอบ หาได้ยากในผู้หญิงทั่วไป ฉันจึงแน่ใจ”

  ระหว่างที่ต้องทรงอภิบาลพระโอรสธิดามาแต่เพียงลำพัง สมเด็จย่าได้ทรงเผชิญกับความทุกข์ในพระชนมชีพอีกหลายครั้งหลายครา และยังต้องทรงแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ หลายเรื่อง อาทิ การตัดสินพระทัยเกี่ยวกับการเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติของพระโอรส การติดต่อกับรัฐบาลเกี่ยวกับการอภิบาลยุวกษัตริย์ การตัดสินพระทัยเลือกสถานที่ประทับในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อความปลอดภัยและเพื่อการศึกษาของพระโอรส อย่างไรก็ตามความทุกข์โทมนัสคราใดก็คงไม่สุดแสนสาหัสท่วมท้นพระราชหฤทัยเท่ากับการสูญเสียพระราชปิโยรสพระองค์ใหญ่ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งสวรรคตขณะที่มีพระชนมพรรษา 21 พรรษา ถึงกระนั้น สมเด็จย่าก็ได้ทรงมีพระปรีชาสามารถครองพระองค์ผ่านพ้นภาวะวิกฤตมาได้ด้วยพระสติปัญญาและกำลังพระราชหฤทัยที่มั่นคง เข้มแข็ง ล้ำเลิศ

 

ทรงประหยัดเพื่อสาธารณะประโยชน์

   เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทว่า สมเด็จย่าไม่ทรงโปรดความฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ทรงใช้สอยเครื่องอุปโภคบริโภคและจ่ายพระราชทรัพย์อย่างประหยัด และใช้หลักธรรมทางสายกลางในการดำรงชีวิตประจำวัน สิ่งที่ได้ทรงแนะนำสั่งสอนข้าราชบริพารเสมอคือ การรับประทานอาหารว่า ควรตักให้พอเหมาะและรับประทานให้หมดไม่ใช่เหลือทิ้ง

  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล่าพระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 รอบ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2523 มีความองค์หนึ่งถึงพระราชจริยวัตรของสมเด็จย่าว่า

   “...เมื่อสมัยทรงพระเยาว์นี้ สมเด็จย่าโปรดให้พระโอรสธิดาทรงทำอะไรเองทุกอย่างด้วยพระหัตถ์ทั้งนั้น ตั้งแต่ทำสวน ตัดหญ้า เก็บผลไม้ แอปเปิล มาเพื่อไม่ให้มีการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ และสมเด็จย่าได้สอนแม้กระทั่งข้าพเจ้าว่า “น่าขายหน้า คนทั่วโลก เขาอดกันจะตาย ตายกันเป็นแถว เราทิ้งๆ ขว้างๆ” นี่รู้สึกใกล้ 30 ปีแล้วที่ทรงสอนมา ก็ได้ดำเนินตามรอยพระราชดำริทุกประการ...”

  คณะผู้จัดทำหนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ของโครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดพระยุคลบาทเกี่ยวกับพระอุปนิสัยและพระราชจริยวัตร โปรดความสันโดษของพระองค์ท่าน และได้เก็บความเรียบเรียงไว้ในหนังสือดังกล่าวเพื่อแสดงให้ผู้อ่านได้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยตอนหนึ่งว่า

  “เรื่องสันโดษในการบริโภค สมเด็จย่าทรงคำนึงถึงมาก ทั้งๆ ที่ทรงอยู่ในฐานะที่จะทรงใช้สอยสิ่งที่ดีที่บำรุงความสุขความสะดวกได้ไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์ทรงคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ปริมาณแห่งกำลัง แห่งความสมควรเสมอ พระกระยาหารของพระองค์ ไม่โปรดให้ทำมากสิ่ง แต่ให้ครบธาตุอาหารตามหลักโภชนาการ ข้าหลวงเล่าว่า โปรดเกล้าฯให้ช่างตัดฉลองพระองค์ใหม่ตามความจำเป็น ปีหนึ่งตัดฉลองพระองค์ใหม่เพียง 2 ชุด ส่วนเครื่องประดับ ทรงสร้อยข้อมือนพเก้าเพียงเส้นเดียว รับสั่งว่าเข้ากับฉลองพระองค์ได้ทุกสี พระธำมรงค์ที่ทรงประจำเป็นเพชรสลักพระนามาภิไธยย่อ สว. บนหน้าเพชร พระธำมรงค์องค์นี้เป็นของสมเด็จพระพันวัสสาฯ เคยทรงมาก่อน พระนามาภิไธยย่อ สว. บนหน้าเพชรนั้น หมายถึง สว่างวัฒนา พระนามเดิมของสมเด็จพระพันวัสสาฯ ขณะนี้สมเด็จย่าไม่ทรงสะสมเครื่องเพชรพลอยใหม่ๆ เลย รับสั่งว่าใช้เงินช่วยคนดีกว่า”
  ในการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์คราวละ 8 เดือน หลังจากตรากตรำพระวรกายเสด็จเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศในห้วงเวลาหนึ่งเป็นเวลา 15 เดือน นอกเหนือจากพระราชประสงค์ที่จะเสด็จไปเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถและทรงออมพระกำลังไว้เพื่อจะได้เสด็จกลับมาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ประเทศไทยต่อไปอีก ยังทรงมีเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง ดังที่รับสั่งเป็นที่จับใจผู้ได้ยินได้ฟังว่า

  “...ฉันมาอยู่ที่นี่ได้เก็บเงินไว้บ้าง ใช้น้อยลง มาอยู่เพื่อเก็บเงินไว้ให้คนอื่น เพราะอยู่เมืองไทยอดไปนั่นไปนี่ไม่ได้ เวลาไปก็มีของไป ตั้งแต่มีแพทย์อาสาก็ต้องใช้มาก แต่ไม่ใช่ไม่ชอบ ฉันชอบ...” 

 

ทรงเป็นพระชนนีที่ประเสริฐ

  “นราเอกจจริยา” กุมาร กุมารีโต ไร้นิราศ ปราศจากพ่อ ยังแต่แม่ผู้เดียวก็พอแลพอเหลียว ชื่อว่าอยู่พร้อมทั้งบิดาและมารดา ทารกผู้ใด ไร้นิราศปราศจากแม่ ยังแต่พ่อผู้เดียว ก็เปล่าเปลี่ยวได้ชื่อว่าสูญเสียทั้งบิดาและมารดา ถึงจะประโลมรักษาเล่าก็ไม่ถึงใจ
  คาถาจากเวสสันดรชาดกข้างต้นนี้ อาจเปรียบได้กับครอบครัวมหิดลภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงแสดงให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่หมู่ชนทั้งหลายถึงพระคุณสมบัติแห่งการเป็นมารดาที่ประเสริฐ ทรงรับพระราชภาระเป็นหัวหน้าครอบครัว อภิบาลพระโอรสพระธิดาได้อย่างดีเลิศ พระปรีชาสามารถสะท้อนออกมาให้เห็นได้จากพระราชจริยวัตรที่งดงาม และพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดของพระโอรสพระธิดาทุกพระองค์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชมพ้องต้องกันทั้งบุคคลที่ใกล้ชิดและพสกนิกรทั่วไปว่าเป็นเพราะมีพระราชชนนีที่ดี
  สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้ทรงออกพระโอษฐ์ชมว่า “ชนนีอบรมดี” พระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงสรรเสริญไว้ในลายพระหัตถ์ถึงพระธิดาของพระองค์ตอนหนึ่งว่า “...พ่อไม่เคยคิดคาดเลยว่าจะเป็นผู้หญิงที่มีแต่ปัญญาสามารถ เพิ่งมาสังเกตในคราวนี้ รู้จักวางพระองค์เหมาะดีทุกสถาน ใครคุ้นก็ต้องนับถือ และค่อยคลายห่วงสมเด็จพระอานันทมหิดล เพราะมีชนนีด้วย...” ส่วนนายเพ็บพี (Mr. Pepys) พระอาจารย์ชาวอังกฤษของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลก็ได้กล่าวยกย่องว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพัฒนาพระอุปนิสัยให้มีความรับผิดชอบสูง และทุกคนต่างยอมรับว่าพระองค์ทรงได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่ดีเยี่ยมจากพระราชชนนี”

  การอภิบาลหรือการอบรมเลี้ยงดูพระโอรสพระธิดาอย่างดีเยี่ยมของสมเด็จพระบรมราชชนนีก็คือ ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ถี่ถ้วนนับตั้งแต่พระพลานามัย การศึกษาหาความรู้ การอบรมขัดเกลาพระกริยาอัธยาศัย การสร้างเสริมพระอุปนิสัยที่ดีงาม รวมทั้งทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในกิจการทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพระชนมชีพของพระโอรส ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทรงบรรยายไว้ในพระนิพนธ์ เรื่อง “เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์” ตอนหนึ่งว่า
  “ชีวิตที่ผ่านไปเรื่อยๆ แม่จัดการเรียน การเล่น การออกสังคมของเรา ท่านดูแลอาหาร ความสะอาดและสุขภาพ เราต้องทำทุกอย่างเป็นเวลา เช่น การกิน การนอน การไปโรงเรียน การเล่นนานๆ ที ถ้าเราไม่ทำตามที่ต้องทำจะถูกทำโทษหรือถูกตี โดยมีการอธิบายกันก่อนว่าทำไมจึงถูกตี บางครั้งก็จะมีการเจรจากันว่าควรตีกี่ครั้ง แล้วบางครั้งถ้าควรตีให้เจ็บๆ แม่ก็จะสั่งให้มหาดเล็กไปเก็บก้านมะยมและรูดใบออกมาให้ พระองค์ชาย (รัชกาลที่ 8) มักจะเป็นผู้ชอบแหย่คน รังแกคนที่นั่งๆ อยู่ เช่น ผลักเขาหรือตีเขา ครั้งหนึ่งเมื่อไปอยู่ที่เมืองโลซานแล้ว จะต้องมีการลงโทษ เพราะพระองค์ชายชอบไปแกล้งลูกของผู้เฝ้าบ้านซึ่งตัวเล็กที่สุดในจำนวนเด็กที่วิ่งๆ อยู่ตามแถวนั้น อายุประมาณ 4 – 5 ขวบ พี่น้องสององค์ตั้งชื่อเขาว่า “เด็กคนเล็ก” เมื่อเรียก “เด็กคนเล็ก” เป็นภาษาไทย เด็กคนนี้ก็จะโผล่มาทุกที บางครั้งก็โยนของให้กินจากระเบียง เช่นเมล็ดแตงโม ซึ่งเด็กคนนี้ก็กินทั้งเปลือก วันหนึ่งพระองค์ชายก็ไปผลักเด็กคนนี้ในที่อันตราย คือ ที่บันได แม่จึงพูดว่า “เตือนมาหลายทีแล้ว คราวนี้เห็นจะต้องตี คิดว่าควรจะตีสักกี่ที” พระองค์ชายตอบว่า “หนึ่งที” แม่ก็ตอบว่า “เห็นจะไม่พอ เพราะทำมาหลายที ควรเป็นสามที” จึงได้ตกลงกันเช่นนั้น ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ผลักเขาอีก... เมื่อโตขึ้นแล้วแม่จะใช้วิธีอธิบายสิ่งที่ควรไม่ควร สิ่งที่ดีไม่ดี โดยพูดจากันด้วยเหตุด้วยผลครั้งหนึ่ง พระองค์ชายมาถามอะไรแม่ที่น่าจะหาคำตอบได้เอง แม่จึงบอกว่า ควรใช้สมองคิดเสียบ้าง เดี๋ยวสมองจะเป็นสนิมเสีย...”

  หลักการอภิบาลพระโอรสธิดาของสมเด็จย่าเมื่อ 70 ปีมาแล้ว ยังคงเป็นหลักการที่ดีและทันสมัยเสมอ เหมาะสมที่จะใช้ในการอบรมเยาวชนให้เป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของชาติบ้านเมือง ในที่นี้ขอยกความตอนหนึ่งในบทความเรื่อง “สมเด็จย่าแม่ฟ้าหลวงประเสริฐสุดประวัติศาสตร์ฤาอาจหา” เรียบเรียงโดย นางสาวศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล ที่ได้สรุปหลักการของสมเด็จย่าเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กโดยประมวลจากข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ได้ 9 ประการดังนี้

1. การดูแลเด็กให้มีคุณภาพอนามัยดี ได้รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ
2. การฝึกหัดให้เด็กมีระเบียบวินัยทั้งกายและใจโดยไม่เข้มงวดจนเกินไป การมีระเบียบวินัย หมายถึง การรู้จักควบคุมตนเอง ไม่ต้องมีผู้อื่นมาบังคับ
3. การส่งเสริมพัฒนาเด็กทางด้านความคิด ให้รู้จักพิจารณาตัดสินใจด้วยตนเอง
4. การสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบ และเคารพในสิทธิของผู้อื่น
5. การสอนให้เด็กรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และฝึกหัดทำงานต่างๆ ด้วยตนเอง
6. การอบรมสั่งสอนเด็กในเรื่องศาสนาจริยธรรม เช่น สอนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต การมีความเมตตากรุณา
7. การสอนให้เด็กคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวม ทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง
8. การให้เด็กได้สนุกสนานกันกิจกรรมต่างๆ ตามวัยของตน
9. การให้เด็กมีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นธรรมชาติ ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย
 

  ทรงเห็นคุณค่าของเวลา

วันเวลาที่ผ่านล่วงไปจนกระทั่งทรงเจริญพระชนมายุถึง 94 พรรษา หากจะนับกันเป็นวินาที นาที ชั่วโมง วัน สัปดาห์และเดือน กล่าวได้ว่ามากมายเกินกว่าจะคณานับ ซึ่งสมเด็จย่า ก็ทรงมีพระปรีชาญาณในการใช้วันเวลาเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่พระองค์เอง และผู้อื่นอย่างคุ้มค่า ทั้งนี้ไม่เพียงแต่กิจการงานที่ทรงปฏิบัติเป็นพระราชภารกิจหรือพระราชกรณียกิจ ในฐานะสมเด็จย่า หรือพระราชวงศ์ผู้ทรงดำรงพระอิสริยยศสูงยิ่งของประเทศ หากแต่ยามว่างพระราชกิจทั้งปวง พระองค์ก็ยังทรงใช้เวลาส่วนพระองค์นั้นให้มีคุณค่า โดยการทรงงานอดิเรกที่จะปรากฏผลเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและต่อสังคม อย่างที่เรียกกันสามัญว่า “เล่นเป็นงาน” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบรรยายถึงพระคุณสมบัติอันประเสริฐนี้ของสมเด็จพระบรมราชชนนี ไว้ใน “คำปรารภ” พระนิพนธ์ เรื่อง “เวลาเป็นของมีค่า” ตอนหนึ่งว่า

 

  “...มีผู้เคยกล่าวทำนอง “การเล่นนั้นเป็นของดีและสำคัญ แต่การที่จะดีกว่านั้น คือ คนที่เรียนก็ดีและเล่นก็ดีด้วย” ผู้ที่พูดถึงหรือเขียนถึงแม่ส่วนมากจะเล่าถึงการงานของท่านแต่ข้าพเจ้าคิดว่าท่านก็ “เล่น” ดีเหมือนกัน...”

  ในพระนิพนธ์ดังกล่าว ยังได้จำลองภาพพระราชกิจประจำวันซึ่งสื่อถึงพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระบรมราชชนนี ไว้อย่างน่าประทับใจตอนหนึ่งว่า
   “เวลาที่อยู่วังสระปทุม แม่จะไม่ทำอะไรก่อนอาหารเช้าและกลางวันซึ่งเป็นมื้อเดียวกัน ตอนบ่ายถ้าไม่มีแขก ท่านอาจทำงานปั้น งานดอกไม้ งานปักภาพหรืองานโครเชต์ ท่านจะไม่ปั้นพระพุทธรูปเลยเวลาอยู่เมืองไทย เพราะไม่มีเวลาต่อเนื่องพอ”

   เวลาแม่อยู่ต่างจังหวัด หลังอาหารกลางวัน ก่อนจะออกไปเล่นกีฬาเปตอง (Pe’tanque) เวลา 15.00, 16.00 น. ถึงประมาณ 18.00 น. ท่านมักทำที่คั่นหนังสือประดับด้วยดอกไม้ โดยเฉพาะเมื่อใกล้เวลาที่จะมีการชิงชนะเลิศของการแข่งขันเปตอง เพราะผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศจะเป็นประเภทใดก็ตาม จะต้องรับรางวัลพิเศษอีกชิ้น นอกจากรางวัลที่ผู้จัดการแข่งขันเป็นผู้เตรียมมา นั่นคือ ที่คั่นหนังสือประดับด้วยดอกไม้ 
   สำหรับภาพดอกไม้นั้น แม่จะนำผ้าพลาสติกไปด้วยผืนหนึ่งทุกหนทุกแห่งเพื่อปูโต๊ะทำงานที่เขาจัดไว้ให้ โต๊ะจะเป็นอย่างไรก็ตามท่านก็ใช้ได้เสมอ ท่านจะเอาอุปกรณ์ครบชุดไปด้วยคือ ชุดหนังสือพิมพ์ที่เป็นที่เก็บดอกไม้ที่ทับแห้งมาจากสวิตเซอร์แลนด์ กรรไกร กาว ใบลาน ด้ายสีธงชาติ กระดาษ พลาสติกสำหรับหุ้ม หลังอาหารค่ำ ถ้าไม่ต้องทำที่คั่นหนังสือด่วน ท่านมักจะถักโครเชต์หรือปัก และในตอนดึกจะอ่านหนังสือในเตียง...
   “...เวลาแม่อยู่โลซาน แม่จะตื่นเช้ากว่าเมืองไทย และจะมีเวลาทำงานอดิเรกประมาณหนึ่งชั่วโมงก่อนอาหารกลางวันและตอนบ่ายก่อนที่จะออกกำลังเวลาประมาณ 16.00 น. โดยปกติระหว่างที่อยู่สวิตเซอร์แลนด์แม่จะสามารถปั้นพระพุทธรูป 3 – 4 องค์และถ้วยหรือที่เขี่ยบุหรี่ประมาณ 2 – 3 ชิ้น ทำของขวัญ เช่น ผ้าจับของร้อน ตามจำนวนแม่ครัว บรรดาศักดิ์ที่มาทำอาหารถวายระหว่างที่อยู่ต่างจังหวัด...”
  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเล่าพระราชทานคณะผู้จัดทำหนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ของโครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงพระจริยวัตรของสมเด็จพระอัยกี ตอนหนึ่งว่า

   “สมเด็จย่าท่านก็ทรงทำงานอยู่ตลอด (ตอนแรกที่ทรงจำได้) ท่านทำไม้กวาด ทีหลังเย็บเสื้อตุ๊กตา ถ้ามาเยี่ยมเฉยๆ ท่านก็ทรงมีกระเป๋าใส่เครื่องการฝีมือมาทำ เวลานั่งคุยกันท่านก็เย็บเสื้อผ้าตุ๊กตา หรือปักผ้าเป็นลายต่างๆ ที่เขามีแบบให้เสร็จ ทำแล้วใส่กรอบ บางทีก็พระราชทานตามเขื่อนต่างๆ หรือตามนิคมที่ใช้เป็นที่ประทับแรมเวลาเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรต่างจังหวัด ท่านไม่ชอบการนั่งเฉยๆ ไร้สาระ ข้าหลวงที่วังสระปทุมก็ต้องช่วยกันทำงานเวลาว่าง เช่น อัดกะปิส่งไปให้ทหารตำรวจตระเวนชายแดน”

  ในการอภิบาลพระโอรสธิดา สมเด็จย่าได้ทรงสั่งสอนให้รู้จักใช้เวลาเป็นประโยชน์ที่สุดมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงสอนให้ช่วยกันทำงาน ครั้งประทับอยู่ที่แฟลตในต่างประเทศ พระราชปิโยรสทั้งสองต้องทรงช่วยกันล้างเฉลียง และเมื่อย้ายไปประทับที่ตำหนักวิลล่าวัฒนา เมืองโลซาน ก็ทรงช่วยกันล้างรถ หรือทำสวน ในช่วงเวลาเสวยพระกระยาหาร ก็ทรงเล่นทายปัญหาต่างๆ เช่น เกมภูมิศาสตร์ เกมประวัติศาสตร์ แม้เวลาประชวร เช่น คราวที่พระโอรสพระองค์เล็กทรงพระประชวร เนื่องจากมีต่อมที่พระปับผาสะและแพทย์ให้ฉายแสงอุลตร้าไวโอเลต สัปดาห์ละ 3 ครั้ง และสรงน้ำเค็มโดยแช่อยู่นาน 10 นาที ซึ่งช่วงเวลาที่แช่น้ำนั้น สมเด็จย่าก็ได้ทรงเข้าไปอ่านรามเกียรติ์พระราชทานให้ทรงฟังด้วย

  แม้แต่เวลาเล่น สมเด็จย่าก็ยังคงปลูกฝังความคิดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่โอรสธิดา ทรงสอนให้เล่นในสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้ ระหว่างประทับอยู่ที่วังสระปทุม พระโอรสธิดาได้ทรงเล่นปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้ เล่นขุดคลองนำน้ำมาใส่ให้ไหลในคลอง มีผู้กล่าวว่า เป็นสัมผัสแรกของงานชลประทานซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดและมีพระปรีชาในด้านนี้ บางคราวก็ทรงเล่นทราย เล่นเป็นช่างไม้ เล่นตัดหญ้าที่สนามด้วยเครื่องตัดหญ้าจริง

  อนึ่ง การเล่นและงานอดิเรกของสมเด็จย่า ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนทรงเจริญพระชนมายุที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงกล่าวถึงในพระนิพนธ์นั้นมีหลายประเภท ได้แก่ การวิ่งเล่น การออกกำลังกาย กีฬาที่โปรด อาทิ แบดมินตัน ขี่ม้า เดินขึ้นเขาเพื่อเก็บดอกไม้ เกมต่างๆ และสกี ซึ่งทรงจนถึงพระชนมายุ 80 พรรษา ตลอดจนเปตอง ซึ่งโปรดมากเมื่อมีพระชนมายุสูงขึ้น งานอดิเรกนอกจากนั้น ได้แก่ การอ่านหนังสือ การถ่ายรูป ถ่ายหนัง การเรือน เช่น การทำครัว การเย็บปักถักร้อย การถักไหมพรม การปัก เป็นต้น และการหาเงินเพื่อการกุศล ส่วนงานประดิษฐ์ที่เป็นผลจากงานอดิเรกของพระองค์ จำแนกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ การเขียนเครื่องกระเบื้อง การทำเครื่องเคลือบดินเผา การปั้นพระพุทธรูป การปักภาพและการเก็บดอกไม้ภูเขามาอัดแข็ง

  งานประดิษฐ์ต่างๆ นั้น สมเด็จย่าทรงจัดทำขึ้นด้วยพระประสงค์หลายประการ ทั้งเพื่อทรงใช้สำหรับพระองค์เอง สำหรับพระราชทานพระโอรสธิดา พระนัดดา ตลอดจนข้าราชบริพารและบุคคลทั่วไปในโอกาสอันควร และยังทรงให้สำหรับจำหน่ายหรือพระราชทานแก่ผู้มาขอพระราชทานไปจำหน่าย เพื่อหารายได้บำรุงกิจการกุศลต่างๆ เป็นจำนวนมาก ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันงดงามของพระองค์ ปรากฏว่าคราวหนึ่งเมื่อพระราชทานพระราชานุญาตให้มีการจำลองพระพุทธรูปที่ทรงปั้น พระองค์ท่านได้ทรงกำชับว่า “การที่จะจำลองจากพระที่ฉันปั้นนั้น ฉันขออย่าไปแก้อะไรเลย ฉันกลัวว่าจะทำดีกว่าที่ฉันทำ”

  คุณค่าของงานอดิเรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดางานประดิษฐ์ฝีพระหัตถ์ของสมเด็จย่า ไม่สามารถประเมินได้ด้วยมาตราชั่งตวงวัดใดๆ หากแต่งานเหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงคุณค่าขององค์พระผู้ประดิษฐ์ของสิ่งนั้นด้วยกำลังพระวรกายและพระอัจฉริยภาพ อีกทั้งยังเป็นสื่อแห่งน้ำพระราชหฤทัย ในที่นี้จะขออัญเชิญความอีกตอนหนึ่งในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงไว้ในบทส่งท้าย เรื่อง “เวลาเป็นของมีค่า” ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการสื่อถึงความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อผลงานของสมเด็จย่า แทนพสกนิกรทุกผู้ทุกนามได้เป็นอย่างดีว่า

  “ท่านได้เห็นผลงานต่างๆ หลายชนิด ซึ่งจะบอกว่างามหรือไม่งามก็แล้วแต่ความคิดเห็นและรสนิยมของแต่ละคน แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่นั่น สิ่งที่ข้าพเจ้าประสงค์จะให้ท่านเห็น คือวิธีหนึ่งระหว่างหลายร้อยหลายพันวิธีที่จะกำจัดความเบื่อ ความเหงา วิธีนี้คือ การสร้างความงามเฉพาะตัว ความพอใจส่วนตัวในวัยเด็กจนถึงวัยชราโดยไม่ต้องมีพรสวรรค์ โดยไม่ต้องใช้จ่ายมากนักเหมือนงานอดิเรกบางชนิด เช่น การ “เล่น” ของเก่า นาฬิกา รถยนต์ โดยไม่ลำบากหรือสร้างความลำบากให้ผู้อื่น แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความรักสิ่งที่ทำ รสนิยม และความอดทน”  

 

ความเป็นผู้นำ

  สมเด็จย่า เคยพระราชทานพระราชาธิบายแก่ผู้กราบบังคมทูลถามถึงพระราชดำริเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้นำว่า จะต้องประกอบด้วยลักษณะสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1. มีความตั้งใจจริง หมายถึง คิดจริง ทำจริง ตัดสินใจทันทีและมีความเฉียบขาด
2. มีทรัพย์สำหรับจับจ่ายใช้สอย
3. มีเกียรติ (หรืออำนาจ) ซึ่งจะทำให้ได้รับความร่วมมือ ความช่วยเหลือจากผู้อื่นอย่างดี โดยรับสั่งว่าถ้าขาดคุณลักษณะประการใดประการหนึ่งแล้ว ก็ยากที่จะทำงานลุล่วงไปได้ คุณลักษณะของผู้นำดังกล่าว พระองค์ทรงสรุปจากประสบการณ์ในพระชนมชีพส่วนพระองค์ให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ก็คือพระคุณธรรมประเสริฐที่สั่งสมอยู่ในน้ำพระราชหฤทัย ได้แก่ การยอมรับและยกย่องบุคคลอื่นผู้มีส่วนร่วม  ในกิจการงานทั้งปวง ในการอุทิศเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีประชาชน บริษัทห้างร้านต่างๆ ทูลเกล้าฯ ถวายของและเงินโดยเสด็จพระราชกุศลก็จะทรงให้เพื่อการกุศล และทรงออกนามผู้ที่ถวายทุกครั้ง เช่น “คณะนี้ บุคคลนี้ เป็นผู้ให้ฉันมานะ”

 

โปรดดาราศาสตร์

  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์หนังสือเรื่อง “เวลาเป็นของมีค่า” ว่า สมเด็จย่า “สนใจดาราศาสตร์มานานแล้ว เมื่ออยู่สหรัฐฯ เคยมีหนังสือดาราศาสตร์เบื้องต้น ต่อมาเมื่อลูกชายคนเล็กเรียนดาราศาสตร์ที่โรงเรียนที่โลซาน แม่ซื้อหนังสือเรื่อง Le Ceil (ท้องฟ้า) ของสำนักพิมพ์ Larousse ให้ ในหนังสือเล่มนี้มีแผนที่ดาวและพระจันทร์อยู่ด้วย แม่เปิดหนังสือดูบ่อยจนแผนที่หลุดมา 3 แผ่น แม่เลยเอาออกมาใช้ต่างหาก”  

  ความสนพระราชหฤทัยในดาราศาสตร์ของสมเด็จย่าปรากฏให้เห็นได้จากพระปรีชาสามารถในการถ่ายทอดความหมายของดวงดาวเป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ กลุ่มดาวสำคัญที่แลเห็นง่ายหรือที่โปรด ลงบนโคมบ้าง ที่เขี่ยบุหรี่บ้าง ถ้วยชามบ้าง จานกระเบื้อง เซรามิกบ้าง ซึ่งบ้างก็ทรงเขียนรูปดอกไม้แทนกลุ่มดาวแต่ละกลุ่ม มีจำนวนกลีบดอกและสีของดอกไม้แทนความสว่างของดวงดาว ซึ่งทางดาราศาสตร์ เรียกว่า แมกนิจูด

  นาวาเอกพิเศษ กมล จิตต์จำนง รน. ผู้เคยมีโอกาสตามเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทางทะเลตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ได้เล่าถึงความประทับใจในพระปรีชาและความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับดาราศาสตร์ของพระองค์ท่านตอนหนึ่งว่า

  “บางคืนพระองค์ท่านเสด็จประทับบนดาดฟ้าเรือ ทอดพระเนตรดวงดาวบนท้องฟ้าด้วยสายพระเนตรเปล่า มิได้ทรงใช้กล้อง หลังจากที่พวกเรากราบบังคมทูลอธิบายชื่อกลุ่มดาวเป็นภาษาไทยและอังกฤษแล้ว ก็รับสั่งชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสและลาตินอีกด้วย บางคืนประทับทอดพระเนตรดวงดาวอยู่จนดึก “สมเด็จย่า” ทรงรอบรู้รากศัพท์ทางวิชาการต่างๆ แม้ชื่อต้นไม้รับสั่งทั้งชื่อสามัญและชื่อภาษาลาติน ทำให้พวกผมได้มีความรู้กว้างขวางไปอีกด้วย”

  ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับดาราศาสตร์ของสมเด็จย่า ปรากฏมาจนถึงช่วงเวลาบั้นปลายของพระชนมชีพ ในการสร้างพระตำหนักดอยตุง ที่โปรดเรียกว่า “บ้านที่ดอยตุง” โปรดให้เจ้าหน้าที่ของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ออกแบบร่างกลุ่มดาวต่างๆ สำหรับจัดทำภาพแกะไม้ประดับเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งอยู่ติดกับส่วนที่ประทับ มีรับสั่งว่า “ฉันอยากได้เพดานห้องโถงที่ไม่แพง” ด้วยไม่โปรดโคมระย้าของต่างประเทศ เพดานพระตำหนักดังกล่าว จึงตกแต่งเป็นภาพไม้แกะสลัก รูปสุริยจักรวาล  กลุ่มดาวจักรราศี 12 กลุ่ม และกลุ่มดาวฤกษ์สำคัญ 12 กลุ่ม ฝีมือช่างแห่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยตกแต่งดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ด้วยหลอดไฟขนาดต่างๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติของดาวดวงนั้น    

  นอกจากบนเพดานห้องโถงของพระตำหนักแล้ว ยังโปรดให้ประดับไม้แกะเป็นรูปดาวฤกษ์สำคัญหลายกลุ่มไว้ที่ราวไม้เฉลียงส่วนพระองค์ ซึ่งทรงปลูกไม้ดอกเป็นแถวยาวตลอดเฉลียงและยังประดับภาพกลุ่มดาวไว้ที่พระทวารบางแห่งบนพระตำหนักดอยตุงอีกด้วย

 

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับ “คนดี”

  บทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่อัญเชิญมานี้ สมเด็จย่าทรงคัดมาด้วยฝีพระหัตถ์ ทรงเล่าพระราชทานพระธิดาในภายหลังว่า เมื่อทรงอ่านก็โปรด ทรงเห็นด้วยกับสาระในโคลงพระราชนิพนธ์นั้น อาจพิจารณาได้ว่าคงจะทรงใช้เป็นคติในการประพฤติปฏิบัติพระองค์ ตลอดจนเป็นหลักในการทรงพิจารณาบุคคลและพระราชทานคำแนะนำสั่งสอนผู้ที่จะทรงฟังแนะนำสั่งสอนได้ เป็นเครื่องเตือนให้สังวรระมัดระวังในการประพฤติปฏิบัติตนเพื่อให้เป็นคนดี ซึ่งคนดีตามแนวพระราชดำริของพระองค์คือ “...จะต้องเป็นคนที่ไม่พูดปดไม่สอพลอ ไม่อิจฉาริษยา ไม่คดโกง และไม่มีความทะเยอทะยานอย่างบ้าๆ แต่พยายามทำหน้าที่ของตนให้ดี ในขอบเขตของศีลธรรม”

เมื่อมีพระราชดำริเช่นนี้ พระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติเป็นตัวอย่างเสมอมาตลอดพระชนมชีพ รวมทั้งทรงอบรมสั่งสอนพระโอรสธิดา และผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท โดยทรงอธิบายว่า การทำหรือปฏิบัติงานใดๆ ต้องปฏิบัติด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยสมควรและเหมาะสม ปราศจากกิเลสตัณหาคือ โลภ โกรธ หลง ถ้าสามารถปฏิบัติได้หากจะมีความบกพร่องผิดพลาดเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถึงพลาดก็พลาดเล็กน้อย ควรแก่การให้อภัย ทรงรับสั่งอยู่เสมอว่า โดยทั่วไปคนที่ทำกรรมดีนั้น บางครั้งก็อาจมีอุปสรรค เช่น ถูกนินทาว่าร้าย และจำต้องมีขันติเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ วิธีทำใจตามที่ทรงถือปฏิบัติจนเป็นธรรมชาติของพระองค์ก็คือ ใช้หลักธรรม “พรหมวิหาร 4” ในอันที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขแก่โลก โดยเฉพาะ “เมตตา” ซึ่งสามารถฝึกหัดและปฏิบัติได้โดยไม่มีขอบเขตและที่สิ้นสุด

  ดังนั้น การที่จะทรงใช้บุคคลใดปฏิบัติงานใด สมเด็จพระบรมราชชนนีมักจะทรงเลือกใช้แต่ด้านที่เป็นลักษณะดีของคนเหล่านั้น เพราะทรงตระหนักดีว่า ทุกคนจะเป็นผู้ที่สมบูรณ์ครบถ้วนปราศจากที่ตินั้นคงหายาก

 

 

โปรดต้นไม้ดอกไม้

  “มีผู้หญิงสาวคนหนึ่งที่น่ารักมาก ซึ่งเก็บดอกไม้ที่ภูเขาและจัดช่อเล็กๆ ซึ่งเธอแอบไปวางบนโต๊ะของหนุ่มสาว เธอเป็นคนจำพวกที่รู้จักชื่อของทุกสิ่งทุกอย่าง ต้นไม้เล็ก ต้นไม้ใหญ่ ทะเลน้ำแข็งตอนค่ำ บนเฉลียงของโรงแรม เธอท่องชื่อดาวให้ฟัง เช่น Antares, Cassiopee, la Lyre และให้ความรู้แก่คนอย่างฉันซึ่งนอกจากดาวจระเข้ไม่รู้เรื่องเลย”

  ข้อความที่ยกมาข้างต้นนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรงหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงแปลจากหนังสือเรื่อง Vacances a tous prix ของนักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อ Daninos ซึ่งไปพักอยู่ที่โรงแรมที่สวิตเซอร์แลนด์ ที่สมเด็จย่าเสด็จไปประทับแรมทุกปี โดยทรงสันนิษฐานว่า “ผู้หญิงคนหนึ่ง” ที่นักเขียนผู้นั้นกล่าวถึงคือ สมเด็จย่าเพราะมีจริยวัตรและความรู้เกี่ยวกับดอกไม้และดวงดาว ตรงกับพระราชจริยวัตรที่โปรดดอกไม้และดาราศาสตร์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงเล่าถึงพระจริยวัตรและพระอุปนิสัยโปรดดอกไม้ของสมเด็จย่าไว้ในพระนิพนธ์ “เวลาเป็นของมีค่า” ตอนหนึ่งว่า

  “...แม่ชอบดอกไม้ ต้นไม้มานานแล้ว เมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ และอยู่บ้านคุณหญิงสงวน แม่ไปขุดดินหลังบ้านและปลูกพริกโดยไม่มีใครขอให้ทำ เมื่ออยู่ Hartford กับ Mrs.Strong แม่ได้รับแบ่งที่ดินเล็กๆ ให้ทำสวน แม่ปลูกดอกไม้ เช่น ดอก Cosmos เมื่ออยู่ที่วิลล่าวัฒนา มีสวนใหญ่ แม่ชอบทำสวนเอง เมื่อย้ายไปอยู่แฟลตที่ Avant Poste ไม่มีสวน แม่จึงต้องทำสวนบนเฉลียง

  แต่ดอกไม้ที่แม่ชอบมากที่สุด คือ ดอกไม้ภูเขาที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อถึงหน้าดอกไม้วันอาทิตย์เราเคยไปเก็บดอกไม้ต่างๆ ตามที่ และเวลาที่ดอกไม้นั้นออก เช่น ดอก Narcissus ดอก Gentian เมื่อแม่ไปอยู่ภูเขาเวลาหน้าร้อน เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม แม่ชอบเก็บดอกไม้ภูเขาและจัดในภาชนะเล็กๆ ต่างๆ เช่น ถ้วยน้ำตาล ถ้วยแยม ถ้วยล้างมือ และถ้ามีมากก็จะไปวางตามโต๊ะอาหารของผู้ที่รู้จัก...”

  ด้วยความที่ไม่โปรดที่จะปล่อยเวลาว่างให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ สมเด็จย่ายังได้มีพระราชดำริริเริ่มนำดอกไม้ภูเขาที่ทรงเก็บมาทับแห้งและประดับวัตถุต่างๆ สิ่งแรกที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นคือ รูปภาพและบัตรอวยพร ซึ่งทรงทำเพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่บุคคลต่างๆ บ้าง เพื่อขายนำรายได้พระราชทานแก่สภากาชาดไทยบ้าง บัตรอวยพรที่ทรงทำเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทรงทำตามที่มีผู้สั่งด้วย บางคราวมีผู้สั่งถึง 500 ใบ เมื่อดอกไม้ที่ทรงเก็บมาจากสวิตเซอร์แลนด์หมดก็ทรงทดลองใช้ดอกไม้ไทย เช่น ดอกเข็ม ดอกพวงชมพู นอกจากรูปภาพและบัตรอวยพรแล้ว ยังทรงนำดอกไม้แห้งมาทำที่คั่นหนังสือและนำมาติดกระดาษประดับใต้ที่ทับกระดาษและที่เขี่ยบุหรี่แก้ว

  การโปรดดอกไม้ของสมเด็จย่า จึงมิใช่แค่ความเพลิดเพลินพระราชหฤทัยเพราะความสวยงามของดอกไม้เหล่านั้นเท่านั้น แต่พระองค์ได้มีพระราชดำริริเริ่มนำมาประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไปด้วย นอกจากนี้ ยังทรงสนพระราชหฤทัยดอกไม้ในแง่ของการศึกษา ดังที่เมื่อทรงนำดอกไม้หลายชนิดมาทับแห้งเป็นเวลานานพอสมควรและมีผู้กราบบังคมทูลว่าน่าจะทรงจัดทำอัลบั้มดอกไม้แห้งไว้ ก็ทรงเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี และทรงทำตามคำแนะนำนั้นโดยส่วนใหญ่จะทรงบันทึกชื่อดอกไม้เป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาลาติน สถานที่ที่เก็บได้ ความสูงของพื้นที่นั้น และวันที่เก็บ วิธีการเก็บดอกไม้มาทับแห้ง จะทรงทับใส่กระดาษหนังสือพิมพ์แล้วทรงสอดไว้ในหนังสือเล่มหนา เอายางรัดไว้ซ้อนกันเป็นตั้งๆ โดยแยกดอกไม้เป็นชนิดๆ เปรียบเทียบดูจากหนังสือพฤกษศาสตร์แล้วทรงจดชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ไว้บนกระดาษหนังสือพิมพ์

  การที่สมเด็จย่าทรงเป็นสตรีที่มีปรีชาญาณ แม้ขณะทรงงานอดิเรก เช่น การปลูกต้นไม้ยังทรงช่างคิด เทียบเคียงถึงวิถีดำเนินชีวิตของคนเรา ดังเช่นที่มีรับสั่งกับ “องคต” ผู้สื่อข่าววงวรรณคดีที่เข้าเฝ้าฯ ระหว่างที่ทรงพรวนดินปลูกต้นบานชื่นในสวนที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนาคราวหนึ่ง ทรงเปรียบการบำรุงรักษาต้นไม้กับการอบรมเลี้ยงดูเด็กว่าใช้หลักการเดียวกันดังนี้

   “ต้นไม้นี่มันคล้ายๆ คน ต้นบานชื่นนี้ ฉันไม่ได้ปลูกด้วยเมล็ด แต่ไปซื้อต้นเล็กๆ ที่เขาเพาะแล้วมาปลูก แต่มันก็งามและแข็งแรงดี เพราะอะไรหรือ เพราะคนที่เขาขายนั้นเขารู้จักเลือกเมล็ดที่ดีและดินที่เขาใช้เพาะก็ดีด้วย นอกจากนั้น เขายังรู้วิธีว่าจะเพาะอย่างไร ซึ่งฉันไม่สามารถทำได้เช่นเขา เมื่อฉันเอามาปลูกฉันต้องดูแลใส่ปุ๋ยเสมอเพราะดินที่นี่ไม่ดี ต้องคอยรดน้ำพรวนดินบ่อยๆ ต้องเอาหญ้าและต้นไม้ที่ไม่ดีออก เด็ดดอกใบที่เสียๆ ทิ้ง คนเราก็เหมือนกัน ถ้ามีพันธุ์ดี เมื่อเป็นเด็กก็แข็งแรง ฉลาด เมื่อพ่อแม่คอยสั่งสอน เด็ดเอาของที่เสียออกและหาปุ๋ยที่ดีใส่อยู่เสมอ เด็กคนนั้นก็จะเป็นคนที่เจริญและดีเหมือนกับต้นและดอกบานชื่นเหล่านั้น”

 

ทรงขยันหมั่นเพียรและโปรดความเรียบง่าย

  เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ข้าราชบริพารและผู้ใกล้ชิดพระยุคลบาทว่า สมเด็จย่า ทรงมีพระอุปนิสัยประการหนึ่ง ในการโปรดที่จะทรงงานเอง นายแก้วขวัญ วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ผู้ซึ่งได้อยู่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาแต่วัยเยาว์ ได้เคยแสดงปาฐกถาพิเศษ ในโอกาสที่ทรงพระเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา เล่าถึงพระราชจริยวัตรที่น่ายกย่องและเป็นแบบอย่างที่ดี ตอนหนึ่งว่า เมื่อครั้งประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ทรงตัดแต่งต้นไม้เอง เสด็จไปตลาด ทรงจ่ายของเอง ซื้อดอกไม้มาจัด และยังทรงสอนข้าราชบริพารจัดดอกไม้ในแจกันด้วยว่า จัดอย่างไรจึงจะสวย ทรงทำงานบ้านเอง ซึ่งมีรับสั่งว่า การได้ทำงานคือการได้ออกกำลังกาย

  นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง ผู้ซึ่งได้ตามเสด็จไปพำนักอยู่ที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา เมื่อ พ.ศ. 2489 ได้กล่าวถึงพระจริยวัตรอันน่าสรรเสริญยิ่งไว้ตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์คณะผู้จัดทำหนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ของโครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า

  “เกิดมาไม่เคยเห็นสุภาพสตรีคนไหนขยันเท่านี้เลย...เมื่อบรรทมตื่น ก็ทรงหางานทำ เสร็จตรวจพระตำหนัก ทรงอยู่อย่างได้ประโยชน์ ไม่ใช่อยู่ไปวันหนึ่งๆ เวลาทรงงาน ทรงลงไปจับทำเองไม่ทรงเรียกให้ใครทำใครช่วย สุดแล้วแต่ใครจะมีน้ำใจไปช่วยเอง ที่วิลล่าวัฒนา มีสวนผลไม้ บางชนิดทรงเก็บมาดองหรือทำแยม เช่น แยมเชอรี่ ผลไม้ เช่น แอปเปิล จะทรงนำไปเก็บในห้องเก็บของใต้ดินที่เรียกว่า cave ก่อนจะนำแอปเปิลไปเรียงตามชั้นในห้องเก็บของใต้ดิน ทรงทำความสะอาดห้องเก็บของด้วยพระองค์เอง จะทรงผ้าคลุมเกศา เช่น หมวกที่ใช้เวลาอาบน้ำ แล้วเสด็จลงไปทำความสะอาด ปัดฝุ่น จัดของ ใครที่อยากช่วยงานท่าน ก็ต้องติดตามหาว่าประทับที่ไหน ตามไปช่วยพระองค์ท่านเอง ไม่ทรงเรียกใช้ใครเลย ท่านไม่ทรงชี้นิ้วสั่งงาน...”

  พระอุปนิสัยและพระจริยวัตรได้สืบทอดมาถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่โปรดการทำอะไรด้วยพระองค์เอง เมื่อครั้งที่ประทับในต่างประเทศ ทรงขับรถยนต์เอง ทรงล้างรถเอง ทรงพ่นสีและขัดสีรถเอง โดยไม่ทรงเรียกให้ผู้ใดช่วย เมื่อทรงดนตรีเสร็จก็เช่นกัน ก็จะทรงเก็บใส่กล่องเอง รวมทั้งทรงดูแลรักษาทำความสะอาดเครื่องดนตรีด้วยพระองค์เอง

  สมเด็จย่า ทรงมีหลักการสำคัญในการฝึกหัดให้พระโอรสธิดาทรงทำงานต่างๆ ด้วยพระองค์เอง โดยการกระทำพระองค์ให้เป็นแบบอย่างและโปรดที่จะให้พระโอรสธิดามีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ เหมือนเด็กธรรมดาสามัญ ทรงสอนให้มีความรู้สึกนึกคิดเป็นปุถุชน ไม่ทรงหลงระเริงในสมมติต่างๆ ทุกพระองค์ทรงรู้จักทำความสะอาดห้องที่ประทับของพระองค์เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลก็ทรงลาดพระที่ด้วยพระองค์เอง

  เมื่อทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้น สมเด็จย่าก็ยังทรงดำเนินพระชนมชีพและวางพระองค์เรียบง่ายโดยสม่ำเสมอ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร พระองค์ท่านก็ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นกันเองกับราษฎรด้วยพระอิริยาบถอ่อนโยน ไม่เก้อเขิน ทรงแสดงออกซึ่งน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยเมตตาธรรมโดยแท้ ทรงทักทายเด็กและคนชราด้วยการลูบหลังบ้าง จับมือบ้าง จับแก้มบ้าง และประทับนั่งยองๆ เพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกรอย่างใกล้ชิด

  บทความเรื่อง “พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” เรียบเรียงโดยนางสาวสุมาลี บำรุงสุขและคณะ ได้สะท้อนภาพพระราชจริยวัตรและน้ำพระราชหฤทัยในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์ ไว้ตอนหนึ่งว่า

   “...เป็นเวลากว่าสามสิบปีแล้ว นับตั้งแต่ พ.ศ. 2507 ที่ปวงชนชาวไทยต่างคุ้นเคยกับการติดตามข่าวพระราชกรณียกิจการเสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกรของสมเด็จย่าแม่ฟ้าหลวงของพวกเขา ภาพทางโทรทัศน์ฉายให้เห็นสมเด็จย่าทรงโน้มพระองค์ส่งของเล่นต่างๆ ให้พวกเด็กๆ พระราชทานยาแก่ผู้เจ็บป่วย ทรงขายดอกป็อปปี้ให้ชาวบ้านชาวเมืองเพื่อหาทุนสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ทรงช่วยประชาชน นักศึกษา ข้าราชการ ทำความสะอาดขุดลอกผักตบชวาในคูคลองที่ต่างจังหวัด พระราชทานของที่ระลึกให้แก่อาสาสมัคร พอ.สว. และผู้มีจิตกุศลบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลต่างๆ ทรงเป็นพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่พระองค์แรก ที่โปรดให้ประชาชนทั่วไปที่คอยเฝ้ารับเสด็จข้างทาง มีโอกาสถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลกับพระหัตถ์ได้ โดยไม่ต้องมีรายชื่อ ไม่ต้องใส่ของ ไม่ต้องมีพาน ภาพพระองค์ทรงแย้มพระสรวลกับประชาชนทั้งหลาย งามตา ชุ่มชื่น เย็นไจ...”

 

โปรดการถ่ายรูปและภาพยนตร์

  งานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งที่สมเด็จย่าโปรดมาโดยตลอดตั้งแต่ยังทรงเป็นนักเรียนพยาบาลที่โรงพยาบาล  ศิริราช คือ การถ่ายรูป เมื่อครั้งเสด็จไปทรงศึกษาที่สหรัฐอเมริกา ในฐานะนักเรียนทุนพยาบาลของ      สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ในระยะแรกที่ประทับอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อพระองค์ทรงได้รับค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์เดือนละ 4 เหรียญดอลล่าร์ ทรงรู้สึก “...ตื่นเต้นมาก รีบไปซื้อกล้องแบบ Brownie Box  ทันที...” ความสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพ ทำให้ทรงศึกษาและทดลองปฏิบัติถ่ายภาพด้วยเทคนิคใหม่ๆ เช่น การถ่ายรูปคนเดียวแต่วางท่า 2 แบบ และปรากฏอยู่ในแผ่นเดียวกัน ต่อมาได้ทรงเปลี่ยนกล้อง  อีกหลายครั้งเมื่อทรงทราบว่ามีสมรรถนะดีกว่าที่ทรงมีอยู่เดิม อีกทั้งได้ทรงใช้กล้องเหล่านั้นถ่ายภาพ  พระอิริยาบถและพระจริยวัตรของสมเด็จพระบรมราชชนก และพระโอรสธิดามาโดยตลอด ดังปรากฏเป็น  ภาพประวัติศาสตร์สำคัญของชาติตราบจนทุกวันนี้ เนื่องจากพระโอรสทั้งสองพระองค์ได้ทรงเจริญพระชันษาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระคุณอันประเสริฐ และพระธิดาก็ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศในที่พระ  ราชวงศ์ชั้นสูงของประเทศ

  ส่วนการถ่ายภาพยนตร์ มีจุดเริ่มต้นดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราช  นครินทร์ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “เวลาเป็นของมีค่า” ตอนหนึ่งว่า “...เมื่อ พ.ศ. 2471 เมื่อแม่อยู่ที่  อังกฤษก่อนจะกลับไทย ได้เห็นหม่อมเจ้ารัชดาภิเษก โสณกุล ทรงถ่ายหนัง แม่เห็นน่าสนใจ จึงขอให้ทูล  หม่อมฯ ทรงซื้อกล้องประทาน ทูลหม่อมทรง “เฉยๆ” แม่จึงไปซื้อเองกล้องหนึ่งพร้อมทั้งเครื่องฉาย...”

 เมื่อมีการตั้ง “สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่น” ขึ้น ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธาน มีสมาชิกประมาณ 50 คน สมเด็จย่า ก็ทรง  เป็นสมาชิกของสมาคมด้วย เคยทรงร่วมในการพบปะของสมาชิกที่สวนจิตรลดา และครั้งหนึ่งได้ทรงฉายภาพยนตร์พระโอรสธิดาไว้ให้สมาชิกของสมาคมชมด้วย

  นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองราชเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ได้ให้ข้อสังเกตซึ่งพสกนิกรไทยทั่วไป คงจะเห็นพ้องต้องด้วยว่า พระราชอัธยาศัยโปรดการถ่ายรูปและถ่ายภาพยนตร์ของสมเด็จย่า ได้สืบทอดมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์อย่างครบถ้วน พระบรมฉายาลักษณ์ที่พสกนิกรได้เห็นตั้งแต่ทั้งสองพระองค์ยังทรงพระเยาว์นั้นมักจะมีกล้องถ่ายรูปคล้องพระศอ หรือไม่ก็ทรงถืออยู่ในพระหัตถ์เสมอ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินในสถานที่ต่างๆ ที่มิใช่เป็นงานพระราชพิธี การถ่ายรูปซึ่งเป็นงานอดิเรกได้กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทรงปฏิบัติพระราชภารกิจ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จำนวนมากมีส่วนช่วยบันทึกข้อมูลประกอบพระราชดำริในเรื่องต่างๆ ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจให้แก่บ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์

 

โปรดหลักการประชาธิปไตย

  หากพิจารณาจากพระอุปนิสัยและแนวพระราชดำเนินในการดำรงพระชนมชีพตลอดจนการปฏิบัติพระราชภารกิจน้อยใหญ่ หรือการปฏิบัติพระองค์ต่อบุคคลต่างวัย ต่างฐานะ ต่างเชื้อชาติภาษา ที่ต้องทรงพบปะหรือเกี่ยวข้องด้วยในโอกาสต่างๆ กล่าวได้ว่า สมเด็จย่า ทรงเลื่อมใสยึดถือและปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตย จึงทรงมีความรู้และได้รับการหล่อหลอมปลูกฝังแนวคิดนี้ ประกอบกับพระคุณลักษณะพิเศษส่วนพระองค์ ที่โปรดการใช้พระสติปัญญาไตร่ตรอง ช่างคิดพิจารณาและมีระเบียบในการดำรงพระชนมชีพ เคยทรงตอบคำกราบบังคมทูลถามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ที่ว่าพระองค์โปรดอะไรมากที่สุดที่สหรัฐอเมริกา ว่า โปรด “เสรีภาพ” และทรงอธิบายความหมายขอประชาธิปไตยตามที่ทรงเข้าพระราชหฤทัยราชทานนางสาวจิรภา อ่อนเรื่อง เมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว มีความตอนหนึ่งว่า

  “...ประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นเสรีภาพที่มีขอบเขต เป็นต้นว่า ทุกคนย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะกระทำสิ่งใดๆ ก็ได้จริง แต่บางสิ่งบางอย่างเราอาจจะทำได้เมื่ออยู่ตามลำพัง และบางสิ่งบางอย่างก็กระทำไม่ได้ เพราะจะต้องคำนึงถึงและเคารพในสิทธิของผู้อื่นเสมอ เช่น การกระทำเสียงเอะอะอึกทึกให้เป็นที่รำคาญของผู้อื่น...”

  เมื่อคราวที่พระโอรสพระองค์ใหญ่ต้องรับพระราชภาระยิ่งใหญ่ในการเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเพื่อประโยชน์สุขของชาติบ้านเมือง เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้มีส่วนสำคัญในการตัดสินพระราชหฤทัย ก็คือสมเด็จย่า และพระองค์ก็ทรงเป็นผู้อภิบาลและอนุสาสน์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ท่างกลางสภาวการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เนื่องจากเพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้เพียง 2 ปีเศษ และในระยะเวลาต่อมาไม่นาน สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้นขณะประทับอยู่ ณ ทวีปยุโรป

  ในการอภิบาลอบรมยุวกษัตริย์และพระธิดา สมเด็จย่าได้ทรงสอดแทรกวิธีการแบบประชาธิปไตยไว้ด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์” ว่า สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงวางระเบียบไว้ ถ้าพระโอรสธิดาไม่ทรงปฏิบัติตามก็ต้องถูกทำโทษ “...โดยที่มีการอธิบายกันก่อนว่าทำไมจึงถูกตี บางครั้งจะมีการเจรจากันว่า ควรตีกี่ครั้ง...เมื่อโตขึ้นแล้ว แม่ใช้วิธีอธิบายสิ่งที่ควรไม่ควร สิ่งที่ดีไม่ดี โดยพูดจากันด้วยเหตุด้วยผล”

  ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและบ้านเมืองนั้น พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงอบรมให้พระโอรสพระองค์ใหญ่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีในระบอบประชาธิปไตยเคยตรัสกับพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร เมื่อ พ.ศ. 2479 มีใจความสรุปว่า “เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับสืบราชสมบัติแล้ว สมเด็จย่าก็มีพระประสงค์อันแรงกล้า ที่จะให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกระทำหน้าที่ประมุขของชาติให้ได้ประโยชน์เต็มที่ ไม่ใช่สักแต่รับราชสมบัติแล้วก็ไม่พยายามประกอบพระราชกรณียกิจในทางโพลิติกก็ดีหรือในทางทำนุบำรุงไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ก็ดี”

  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่คณะผู้จัดทำหนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ของโครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2525 ตอนหนึ่งว่า

  “...ในครอบครัวเรา (ความรับผิดชอบ) เป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนอันแรก คือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย ถ้าไม่มีความรับผิดชอบ จะไปช่วยเมืองไทยได้อย่างไร...”

  ผลแห่งการวางรากฐานพระอุปนิสัยและแนวความคิดที่มีเหตุผล มีความรับผิดชอบ ทำให้พระโอรสธิดาทรงมีบุคลิกภาพที่สง่างาม มีพระราชอัธยาศัยและพระจริยวัตรงดงามเป็นที่ชื่นชมนิยม รักใคร่และยกย่องสรรเสริญของบุคคลทั่วไปดังเช่นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศรประธานสภาผู้แทนราษฎรได้บันทึกพระอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลด้วยความชื่นชมว่า ทรงมีความเพียรและเฉลียวฉลาดพอควรแก่พระชนมายุ พระทัยโอบอ้อมอารีและมัธยัสถ์ในการใช้สอย ไม่สุรุ่ยสุร่าย นอกจากนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

  “...การรักษาอนามัยและการอบรมทางบ้าน พระราชชนนีได้เป็นธุระเอาใจใส่เป็นอย่างดีและเลี้ยงดูอย่างฝรั่ง ให้มีความรู้กว้างขวาง มี Democratic Ideas ไม่ถือองค์เป็นเจ้า การเรียนดี การเล่นในโรงเรียนเวลาเลิกเรียนแล้วก็ดี คละปะปนกับเด็กอื่นทั่วไป...” 

 

ทรงสนพระราชฤทัย “การบริหารจิต”

  นอกจากจะทรงยกระดับความเป็นอยู่ในด้านการดำรงชีวิตของประชาชนด้วยปัจจัยสี่เพื่อการกินดีอยู่ดีมีพลานามัยสมบูรณ์แล้ว สมเด็จย่ายังทรงคำนึงถึงการยกระดับจิตใจของพสกนิกรเพื่อให้มีสติปัญญาดี จิตใจผ่องใส มีความเห็นชอบ ดำริชอบ ด้วยการน้อมนำเอาธรรมะของศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความสุขกายสบายใจ ซึ่งย่อมเกิดผลดีต่อความผาสุกร่มเย็นภายในสังคมประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วย

  หากผู้ใดชื่นชอบกับการฟังรายการวิทยุของสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต มาตั้งแต่ยี่สิบปีก่อน คงจะได้เคยฟังรายการบริหารทางจิต ซึ่งสมเด็จย่าโปรดให้จัดขึ้นเป็นประจำทุกเช้าวันอาทิตย์สำหรับผู้ฟังทั้งวัยสูงอายุ วันรุ่นและวัยเด็ก โดยโปรดให้อาราธนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณจัดดำเนินรายการ นอกจากนี้ยังโปรดให้จัดพิมพ์หนังสือธรรมะสำหรับพระราชทานเป็นส่วนพระราชกุศลธรรมทานในมงคลวโรกาสต่าง ๆ เช่นเรื่อง “หลักการทำสมาธิเบื้องต้น” “พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร” “วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้อง” “การหลงตนลืมตน” “มิลินทปัญหา” “ศาสนาและทศพิธราชธรรม” โดยโปรดให้ใช้สำนวนภาษาที่เข้าใจง่าย ซึ่งได้มีพระราชอุตสาหะคัดเลือกหัวข้อธรรมะด้วยพระองค์เอง และเมื่อการเรียบเรียงหนังสือเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ทรงพระอักษรพิจารณาทบทวนทุกเรื่อง บางครั้งพระราชทานพระราชวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้อ่านที่มีระดับพื้นฐานความรู้ทางพุทธศาสนาแตกต่างกันสามารถเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

  สมเด็จย่า ได้ทรงปลูกฝังความรู้ทางพุทธศาสนาแก่พระราชโอรสธิดามาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงใช้แนวทางการอบรมสั่งสอนให้เหมาะสมกับวัยเพื่อให้ซึมซับในวัฒนธรรมและพุทธศาสนาอันดีงามของชาติไทย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์” ว่า

  “…วันอาทิตย์ แม่จะพาไปดูวัดต่าง ๆ เป็นเพียงการไปชมภายนอกเพื่อให้รู้จักลักษณะของวัด เช่น วัดพระแก้ว โดยเฉพาะระเบียงที่มีภาพรามเกียรติ์ วัดสุทัศน์ฯ วัดโพธิ์ วัดอรุณฯ ที่วัดสระเกศฯ นั้นได้ไปเวลามีงานภูเขาทองเพื่อดูละครลิงและซื้อดอกไม้ไฟ แม่ไม่ได้พาไปฟังเทศน์เพราะ ‘เด็ก ๆ‘ (ตามที่เราเรียกตัวเองกัน) คงนั่งนิ่ง ๆ อยู่ไม่ไหวและคงไม่เข้าใจอะไรเลย แม่จะอธิบายพุทธประวัติในถ้อยคำง่าย ๆ ที่เราสามารถจะเข้าใจได้ และก่อนนอนจะให้สวดมนต์สั้น ๆ ในภาษาธรรมดา ๆ ว่า ‘ขอให้พระพุทธเจ้าบันดาลใจให้ (ชื่อของเราเอง) เป็นเด็กดี มีใจเมตตากรุณา‘ ภายหลังอาจมีต่อเติมอะไรอื่นอีกแล้วแต่แต่ละคน…”

  ในส่วนพระองค์เองนั้น ได้ทรงดำรงพระชนมชีพด้วยการใช้หลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา และพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นอาทิ เป็นเครื่องนำทางในการประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวง ทั้งด้านส่วนพระองค์ ส่วนพระราชวงศ์ และสังคมประเทศชาติส่วนรวมดังจะเห็นได้จากวิธีการและแนวทางการอบรมสั่งสอนพระราชโอรสธิดาก็ดี การวางพระองค์ก็ดี การใช้จ่ายพระราชทรัพย์สิ่งของก็ดี การสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ ก็ดี การตัดสินพระราชหฤทัยในเรื่องต่าง ๆ ก็ดี กล่าวได้ว่าทรงเป็นแบบอย่างของพุทธศาสนิกชนที่ประเสริฐ ในที่นี้จะขอยกความในบทความเรื่อง “พระพลานามัย” เรียบเรียงโดยนายแพทย์เฉก ธนะสิริ พิมพ์ในหนังสือ “90 พรรษาแม่ฟ้าหลวง” ซึ่งได้ขอประทานสัมภาษณ์หม่อมเจ้าลุอิสาณ์ ดิศกุล มาถ่ายทอดให้เห็นถึงแนวพระราชดำริ และความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา ตลอดจนการปฏิบัติทางจิตของสมเด็จย่า ตอนหนึ่งว่า

  “…สมเด็จฯ ทรงมีความเชื่อมั่นและทรงยึดมั่นในธรรมะของพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเจริญสมาธิและวิปัสสนากรรมฐานอยู่เป็นประจำ เป็นเพราะพระองค์สนพระทัยและทรงเข้าพระทัยในธรรมะของพุทธศาสนา พระองค์ทรงสามารถ 'ปล่อยวาง' ได้โดยไม่ทรงใส่พระทัยเรื่องใด ๆ ก็ตามให้เกิดความทุกข์ห่วงใย ทรงพระเกษมสำราญ ทรงดำรงพระชนมชีพอย่างสงบเรียบง่ายด้วยการบำเพ็ญพระองค์ทรงช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทรงช่วยบรรเทาความทุกข์จากการเจ็บป่วยและการขาดแคลนของราษฎร มีพระราชดำริให้ตั้งหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ (พอ.สว.) ออกช่วยเหลือราษฎรตามท้องถิ่นต่าง ๆ อันเป็นความเกษมสำราญของสมเด็จฯ และผู้เขียนได้ทูลถามถึงความทรงเชื่อในเรื่อง ‘กรรม‘ ทรงตอบว่าทราบกันอยู่แล้วว่าพระพุทธศาสนาสอนให้เชื่อในเรื่องของกรรม คือทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว และวัฏสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิด สมเด็จฯ ทรงเชื่อในเรื่องนี้ และทรงเห็นว่าคำอธิบายทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นจริงและน่าสนใจที่สุด

  คำถามที่เกี่ยวกับการปฏิบัติกิจทางวิปัสสนากรรมฐานนี้ ท่านประทานคำอธิบายว่า สิ่งนี้เป็นวิธีที่สมเด็จฯ ทรงสามารถปล่อยวางได้สำเร็จ พระองค์ทรงมีพระอารมณ์เยือกเย็น ไม่ห่วง ไม่กลัว ไม่เหงา ไม่หลง ไม่วิตกกังวล และไม่สะทกสะท้านต่อเหตุการณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น พระองค์ทรงปล่อยวางได้จริง ๆ

  หม่อมเจ้าลุอิสาณ์รับสั่งว่า สมเด็จฯ ทรงยอมรับสภาพทางธรรมชาติของมนุษย์ในเรื่องความเสื่อมของสังขาร พระองค์ยังทรงมีพระอารมณ์ขันด้วยการรับสั่งถึงพระองค์เองบ่อย ๆ ว่า ‘แก่แล้วนะ มันก็เป็นอย่างนี้‘ อะไรทำนองนั้น”

  พระราชอัธยาศัยอีกประการหนึ่งของสมเด็จย่าซึ่งเป็นลักษณะของชาวพุทธโดยแท้คือ ก่อนที่จะทรงปลงพระราชหฤทัยเชื่อสิ่งใด จะทรงไตร่ตรอง ศึกษาใคร่ครวญด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง ทรงดำรงพระองค์มั่นในทศพิธราชธรรม สมกับที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงของประเทศ ทรงมีขันติธรรมทางศาสนา ทรงพระกรุณาเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมและบรรเทาทุกข์พสกนิกรโดยทั่วหน้าด้วยพระเมตตาธรรม ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในสถานะ เชื้อชาติ ภาษาหรือศาสนาใด เมื่อ พ.ศ. 2514 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุณหญิงสมร ภูมิณรงค์ เรียบเรียงหนังสือเรื่อง “ศาสนาอิสลามสอนอะไร” พระราชทานแก่ข้าราชการและราษฎรในเขตจังหวัดภาคใต้ที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก ครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนจิตต์อารีที่มูลนิธิช่วยคนโรคเรื้อนลำปางตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่บุตรของผู้ป่วยโรคนี้ รับสั่งถามว่า เด็กนักเรียนนับถือศาสนาอะไร เจ้าหน้าที่กราบบังคมทูลว่า มีรากฐานดั้งเดิมเป็นคริสเตียน เพราะหมอสอนศาสนาคริสเตียนได้เริ่มการสงเคราะห์ผู้ป่วยเรื้อนมาก่อน สมเด็จพระบรมราชชนนีรับสั่งว่า “ไม่เป็นไรเขานับถือศาสนาอะไรก็ให้นับถือแบบนั้นเถิด เด็ก ๆ ทุกคนต้องมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว”

  ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมราชชนนีเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2513 มีความตอนหนึ่งในประกาศพระบรมราชโองการแสดงให้ปรากฎถึงพระเกียรติคุณด้านการพระศาสนาและพระราชจริยวัตรอันงดงามว่า

  “…ในด้านการพระศาสนานั้น ก็ได้ทรงสนับสุนการศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างกว้างขวางและได้ทรงบริจาควัตถุปัจจัย เกื้อกูลกิจการต่าง ๆ ในพระบวรพุทธศาสนา และในศาสนาอื่น ๆ อยู่เสมอในส่วนพระองค์เล่า ก็ทรงเป็นอุปการิณีมีคุณูปการยิ่งกว่าผู้ใด เบื้องต้น แต่ได้ทรงอภิบาลบำรุงและทรงอนุสาสน์สั่งสอนความดีงามตามขัตติยราชประเพณี ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มา และยังมีพระหฤทัยสิเนหาห่วงใยอยู่มิได้ขาด ทั้งได้ทรงรับพระราชภาระปฏิบัติราชการแผ่นดิน ในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศเป็นหลายครั้ง บัดนี้สมเด็จพระราชชนนีเสด็จเหลืออยู่พระองค์เดียว ที่ทรงเป็นเขตอันล้ำเลิศ อันจะทำให้เกิดสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลแด่พระองค์

  จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศเฉลิมพระนามสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย อำนาจแห่งพระกตัญญูกตเวทิตาธรรมและเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงดลบันดาลอภิบาลรักษาพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีให้ทรงเจริญพระชนมายุพรรณ สุข พล ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลศุภผล สกลเกียรติยศ ปรากฏมโหฬารตลอดจิรัฏฐิติกาลเทอญ”

  การที่สมเด็จย่าทรงใช้ธรรมะประหนึ่งเป็นอาวุธฝ่าฟันอุปสรรคปัญหา ความทุกข์โทมนัสน้อยใหญ่ในพระชนมชีพ ทำให้ทรงประสบความสุขสงบ ความเจริญตามครรลองของผู้ประพฤติธรรมโดยแท้ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ สมดังคำถวายพระพรของสมเด็จพระราชปิโยรสแต่ครานั้น และเป็นดังที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงแสดงพระธรรมเทศนาในพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน 7 วัน งานพระบรมศพ มีความตอนหนึ่งทรงกล่าวถึง ชัยชนะ ที่สมเด็จย่าทรงได้รับว่า

  “สมเด็จบรมบพิตร สมเด็จพระบรมราชชนนีไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์ท่านอีกแล้ว ไม่ว่าจะทรงอยู่ในพระวัยใดก็ไม่มีผู้เสมอเหมือนตั้งแต่ทรงเยาว์พระชันษาก็ตาม จนสุดท้ายแห่งพระชนมชีพก็ตาม ไม่มีชีวิตผู้ใดเปรียบได้ ผู้ศึกษาพระชีวประวัติอย่างประณีตอย่างมีธรรมะเป็นหลักย่อมเห็นชัด ทั้งพระกุศลกรรมและพระอกุศลกรรมในพระอดีตชาติที่มากมายสลับซับซ้อน และในพระชาตินี้ได้ส่งผลที่ท้าทายพระสติปัญญา ท้าทายธรรมะที่ทรงยึดเป็นหลักดำรงพระชนมชีพตั้งแต่ทรงเยาว์พระชันษา ตราบจนเวลาสุดท้ายแห่งพระชนมายุ 94 พรรษา ผลแห่งการท้าทายที่ทรงได้รับอย่างหนักหนาตลอดพระชนมชีพก็คือ ทรงได้รับชัยชนะ ทรงเป็นผู้ชนะอย่างบริสุทธิ์ สะอาดงดงามในทุกเรื่องทุกกาลเวลาได้ทรงใช้พระบารมีกรรมที่ล้ำเลิศ และทรงใช้พระบารมีธรรมที่ล้ำเลิศ ไม่มีผู้เสมอเหมือนเป็นอาวุธ” 

 

ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษาหาความรู้

  นับตั้งแต่พระชนนีคำได้สอนการอ่านหนังสือและสนับสนุนให้ศึกษาเล่าเรียนต่อไปในโรงเรียน ชีวิตสมเด็จย่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการที่ได้ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระบรมราชชนก ผู้ซึ่งทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษาและอุทิศกำลังพระวรกาย พระราชทรัพย์ พระสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์โดยตลอด ทำให้สมเด็จย่าได้ทรงซึมซับพระอุปนิสัยที่จะใฝ่ศึกษาหาความรู้ด้านต่างๆ เพื่อที่จะมาทรงทำประโยชน์ให้แก่สาธารณชนเช่นกัน นับแต่นั้นซึ่งเป็นเวลากว่า 80 ปีมาแล้ว ได้ทรงผูกพันอยู่กับการศึกษาเล่าเรียนจวบจนกระทั่งบั้นปลายชีพ

  สมเด็จย่าทรงมีพระอุปนิสัยช่างคิดมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดังเช่นที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ “แม่เล่าให้ฟัง” ว่า

  “ครอบครัวของแม่เป็นครอบครัวที่ไม่แสดงความรู้สึกออกมาให้เห็นชัดเจน แม่จึงเป็นเด็กที่เงียบๆ ไม่พูดมาก แต่ตามที่แม่เล่า แม่คิดมากและสิ่งที่คิดนั้นก็ไม่ตรงกับสิ่งที่อ่านหรือเห็นหลายอย่างแม่จึงนึกว่าคนอื่นคงต้องถูกและตัวเองผิด”

  หนึ่งในบรรดาหนังสือที่ทรงอ่านแล้วโปรดและเห็นด้วยกับสาระมาตั้งแต่ทรงมีพระชนมายุได้ 10 พรรษา คือ บทโคลงสุภาษิตพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบทหนึ่งให้ข้อคิดเกี่ยวกับ “ความรู้” ซึ่งสมเด็จย่าสนพระราชหฤทัยมากและพิจารณาได้ว่าคงทรงจดจำคติไว้ใช้ในการดำเนินพระชนมชีพมาโดยตลอด

  เมื่อทรงพระชนมายุเพิ่มขึ้น เสด็จไปทรงศึกษาและประทับอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป สมเด็จย่าโปรดการอ่านหนังสือปรัชญาของตะวันตกที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่ดีงามที่ถูกต้อง พระองค์พอพระราชหฤทัยที่จะอ่านงานเขียนเหล่านั้น ทรงนิยมยกย่องบรรดาปรัชญาเมธีที่มีความสามารถถ่ายทอดความนึกคิดของตนเป็นลายลักษณ์อักษรได้ เมื่อทรงอ่านหนังสือเล่มใด ทรงพบข้อความใดที่ต้องพระราชหฤทัย หรือทรงพระราชดำริว่าน่าสนใจ แม้จะไม่ทรงเห็นด้วย ก็จะทรงขีดเส้นใต้ไว้ด้วยดินสอแดง ข้อความที่คัดมาหลายบท พฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์

  สมเด็จย่าทรงสนพระราชหฤทัยศึกษาพุทธศาสนา ทรงอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาหลายเล่มโดยไม่ทรงเชื่อหรือปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนาโดยทันที แต่ทรงยึดหลักเหตุผลใคร่ครวญพิจารณาว่าคำสอนนั้นๆ ถูกต้องมีเหตุผล แล้วจึงปฏิบัติตาม หากได้ศึกษาพระราชประวัติตลอดพระชนมชีพของพระองค์ จะเห็นได้ว่า ทรงนำหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนามาเป็นคติในการดำเนินพระชนมชีพและในการแนะนำช่วยเหลือผู้อื่นในกาลต่อมา

  เมื่อพระโอรสธิดาเจริญพระชนมายุแล้ว พระองค์ทรงมีเวลาเสด็จไปฟังบรรยายที่มหาวิทยาลัยโลซาน โดยไม่ใช่เป็นการศึกษาวิชาที่โปรด เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา วิชาที่ทรงเลือกเข้าฟังการบรรยาย ได้แก่ วรรณคดี ปรัชญา จิตวิทยา ศาสนาเปรียบเทียบ สังคมวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทรงพระอุตสาหะเรียนภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งได้ทรงนำความรู้มาทรงใช้ในการอ่านพระไตรปิฎกด้วยพระองค์เอง

  นอกจากนี้ สมเด็จย่ายังทรงวิริยะ ศึกษาเรียนรู้วิทยาการแขนงอื่นๆ ที่สนพระราชหฤทัยใคร่รู้ และเพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ตามพระอุปนิสัย มีทั้งด้านศิลปะ เช่น การถ่ายรูป ถ่ายภาพยนตร์ การขับรถยนต์ การวาดกระเบื้อง การปั้น การทำเครื่องเคลือบดินเผา ด้านการกีฬา เช่น สกี ขี่ม้า แบดมินตัน เปตอง ด้านพฤกษศาสตร์และดาราศาสตร์ เป็นต้น

  ความรู้นานัปการที่ทรงได้รับจากการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบจากแหล่งและสื่อต่างๆ ทั้งจากพระปรีชาและพระประสบการณ์ในพระชนมชีพและพระสติปัญญาเมื่อประกอบเข้ากับพระอุปนิสัยที่เรียกอย่างสามัญว่า “ใฝ่ดี” และ “ใฝ่ทำประโยชน์” ด้วยแล้ว ได้หล่อหลอมให้พระองค์ยิ่งทรงเป็นผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถและพระสติปัญญา นำพาชีวิตส่วนพระองค์และผู้อยู่รอบข้างตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ ผู้ปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทให้มีความสุขสงบและเจริญด้วยคุณงามความดีตามอัตภาพของแต่ละบุคคล ทั้งนี้สะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมจากพระราชอัธยาศัย พระราชจริยวัตร พระราชภารกิจและพระราชกรณียกิจ ที่ทรงกระทำและบำเพ็ญให้กับครอบครัวของพระองค์ ให้กับสังคมรอบข้างและให้กับชาติบ้านเมืองเป็นนิจ