ประวัติความเป็นมาการจัดสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 

    สืบเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชกระแสรับสั่งให้สำรวจสถานที่ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เคยประทับเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ บริเวณหลังวัดอนงคาราม เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร และชุมชนในท้องที่บริเวณนั้น  ค่อนข้างจะแตกต่างจากชุมชนอื่น เพราะประกอบไปด้วยชาวไทย จีน มุสลิม และลาว เคยอาศัยอยู่ร่วมกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

    ผู้รับสนองกระแสพระราชดำริได้ทำการสำรวจ สืบทราบตำแหน่งที่แน่นอนของบ้านที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเคยประทับเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ตามหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าบ้านดังกล่าวได้ถูกรื้อไปแล้ว โดยมีตึกแถวสองชั้นขึ้นมาแทนที่ คณะผู้สำรวจจึงทำการสำรวจในบริเวณโดยรอบ ได้พบอาคารตึกแถวชั้นเดียวในบริเวณอาคารที่ทรุดโทรมมาก ตามลักษณะของอาคารแถวนี้มีรูปร่างใกล้เคียงกับ “บ้าน” ตามหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ทรงทราบ
     ในระหว่างคณะสำรวจได้ทำการสำรวจบริเวณดังกล่าว เจ้าของที่ดิน คือ นายแดง และนายเล็ก นานา ทราบเรื่อง จึงน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายที่ดินบริเวณนั้นแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมพื้นที่ 4 ไร่ โดยพื้นที่เดิมเป็นที่ตั้งของบ้านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) อธิบดีกรมพระคลังสินค้า ในรัชกาลที่ 5 เป็นอาคารตึกแถวปนไม้ขนาดใหญ่ 2 ชั้น จำนวน 2 หลังตั้งขนานกัน ลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ล้อมรอบตึกแถวบริเวณเรือนบริวารชั้นเดียวทางด้านขวาและด้านหลังของตึกใหญ่ ส่วนด้านซ้ายเป็นตึก 2 ชั้น ลักษณะที่ล้อมรอบนี้ ประยุกต์จากสถาปัตยกรรมแบบจีน อาจเก่าแก่ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) บิดาเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) เป็นผู้ปกครองชุมชนย่านนี้
      พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้อนุรักษ์ และพัฒนาพื้นที่ให้เป็น "อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี"  เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นย่านประวัติศาสตร์ใกล้เคียงกับสถานที่ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเคยประทับเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ โดยโปรดให้มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นเจ้าของโครงการ นายนนท์ บูรณสมภพ เป็นผู้ออกแบบและบริหารโครงการ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง โดยมี กรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมความถูกต้องทางด้านประวัติศาสตร์และศิลปกรรม
  ผู้รับสนองพระราชดำริได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ตามพระราชดำริไว้ดังนี้
  1. ให้เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชน สำหรับประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ได้พักผ่อนหย่อนใจ
  2. ให้อนุรักษ์อาคารสำคัญไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ และเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยภายในอาคารทั้ง 2 หลัง จัดแสดงพระราชประวัติ  พระราชกรณียกิจ  และพระราชจริยาวัตรอันงดงามของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกันของชุมชนชาวไทย จีน มุสลิม และอนุรักษ์ส่วนประกอบสำคัญอื่น ๆ เช่น ซุ้มประตูทางเข้าที่ปรักหักพัง  จะคงรูปเดิมไว้ โดยเสริมความมั่นคงให้คงทนแข็งแรง อนุรักษ์ต้นไม่ใหญ่ที่มีอยู่ในบริเวณ เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร ต้นกร่าง ฯลฯ
  3. จัดพื้นที่ของสวนให้เป็นพื้นที่โล่งกว้างมากที่สุด ให้เป็นลานพักผ่อน ปลูกไม้เลื้อยคลุมซุ้มทางเดิน เพื่อความร่มรื่น 
  4. เพื่อให้เป็นที่ศึกษาพันธุ์พฤกษชาติของต้นไม้และดอกไม้นานาชนิด
  5. จัดวางระเบียบการสัญจรไปมาในสวนสาธารณะให้ประชาชนสามารถใช้ได้โดยสะดวก