แผ่นหินแกะสลัก

    งานแกะสลักหิน นับเป็นผลงานด้านประติมากรรมที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ตั้งอยู่บริเวณด้านในอุทยานถัดจากบ้านจำลอง มีจุดเริ่มต้นของการมีพระราชดำริจัดสร้าง สืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จฯ ในพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายพระมหาธาตุเจดีย์ นภพลภูมิสิริ ที่กองทัพอากาศจัดสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2535 ณ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พอพระทัยในภาพหินแกรนิตและสลักเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ประทับอยู่โถงพระมหาธาตุเจดีย์ และได้มีพระราชดำริจัดทำภาพหินแกะสลักลักษณะเดียวกันนี้ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้บัญชาการทหารอากาศจึงได้ขอพระราชทานวโรกาส รับสนองพระราชดำริมาดำเนินการ โดยมอบหมายให้ พลอากาศเอก สมศักดิ์ กุศลาลัย เป็นผู้แทนกองทัพอากาศ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
   คณะอนุกรรมการฝ่ายออกแบบและจัดสร้างภาพแกะสลักหิน โดยมี หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นประธานร่วมกันหลายครั้ง เพื่อพิจารณาถึงรูปแบบรายละเอียดของภาพที่จะแกะสลักโดยการศึกษาค้นคว้า พร้อมกันนี้คณะทำงานยังได้เดินทางไปศึกษาพื้นที่ทรงงานพัฒนาดอยตุง พระตำหนักดอยตุง พื้นที่บางส่วนของภาคเหนือ เยี่ยมชมการปฏิบัติงานของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มาถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ และได้เข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานแนวพระราชดำริ จากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการจินตนาการของผู้ออกแบบจากกรมศิลปากร
  ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้เห็นชอบที่จะใช้วัสดุในการแกะสลักเป็นหินทราย เนื่องจากหินทรายมีเนื้อละเอียด เมื่อนำมาแกะสลักจะได้ลวดลายที่คมชัด เนื้อผิวสวยและง่ายต่อการแกะ อีกทั้งมีความคงทนไม่แพ้หินแกรนิต เมื่อได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามที่เสนอ โดยหินทรายดังกล่าวนี้กองทัพอากาศรับหน้าที่จัดหาและขนย้ายจากแหล่งหิน ที่กิ่งอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา มายังบริเวณอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แผ่นหินทรายสีเขียวมีขนาดกว้าง 1.60 เมตร ยาว 8 เมตร หนา 90 เซนติเมตร ตั้งอยู่บนฐานที่มีความสูง 80 เซนติเมตร รายละเอียดของภาพที่จะแกะสลักนั้น คณะกรรมการฯ เห็นพ้องต้องกันว่า ควรเป็นภาพที่สะท้อนให้เป็นถึงพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงมุ่งมั่นจะบรรเทาความทุกข์ยากอันเกิดจากโรคภัย ความด้อยโอกาสทางการศึกษา ความยากจนในถิ่นทุรกันดาร ตลอดจนการปลูกฝังความรัก ความเชื่อมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แก่บรรดาพสกนิกร จากแนวความคิดดังกล่าว นำไปสู่การออกแบบภาพด้านหนึ่งของแผ่นหินเป็นภาพพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญมาเป็นระยะเวลานาน ได้แก่ สภาพความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่หางไกลความเจริญ การดำเนินงานของคณะแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) การจัดตั้งโรงเรียนประชาชนชาวเขาไกลคมนาคม หรือโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และกลางภาพต้นไม้ใหญ่ มีตราอักษรย่อ พระนามาภิไธย ส.ว. ประดับอยู่กึ่งกลาง เปรียบสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสมือนร่มโพธิ์ ร่มไทร ที่แผ่กิ่งก้านสาขาปกเกล้าชาวไทยให้อยู่เย็นเป็นสุขมายาวนาน ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้น คือภาพริ้วขบวนไหว้สาแม่ฟ้าหลวง บริเวณหน้าพระตำหนักดอยตุง เพื่อสะท้อนถึงความเทิดทูน  ความจงรักภักดี และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่มีต่อปวงชนชาวไทย
  สรุปขั้นตอนการดำเนินงานจัดทำภาพแกะสลักหินทรายโดยจำแนกได้ทั้งสิ้นเป็น 5 ขั้นตอนกล่าวคือ
  ขั้นตอนการออกแบบ
  ขั้นตอนการจัดจ้างช่างแกะสลัก
  ขั้นตอนการจัดเตรียมและขนย้ายหิน
  ขั้นตอนการออกแบบต้นแบบ
  ขั้นตอนการแกะสลัก

  ขั้นตอนที่ 1 คณะอนุกรรมการฝ่ายออกแบบและจัดสร้างภาพหินแกะสลักนั้น ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มโครงการโดยได้จัดประชุมเพื่อระดมแนวความคิดหลักในการออกแบบทรงงานตามโครงการ โดยได้จัดการประชุมเพื่อระดมแนวความคิดหลักในการออกแบบรวมทั้งการศึกษาค้นคว้าจากพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ตลอดจนการเดินทางไปศึกษาพื้นที่ทรงงานตามโครงการพระราชดำริ และการได้รับความอนุเคราะห์จากกองบัญชาการตำรวจตะเวณชายแดน ในการถ่ายทอดเรื่องราว ประสบการณ์ที่ได้ถวายงานรับใช้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพื่อให้ผู้ออกแบบสามารถจินตนาการภาพได้อย่างชัดเจนดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น

  ขั้นตอนที่ 2 คณะอนุกรรมการฝ่ายออกแบบและจัดสร้างภาพแกะสลักหินพิจารณาเห็นว่าหากสามารถสลักหินก้อนเดียวได้ จะทำให้ภาพมีความสวยงามและมีศิลปะมากขึ้น จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้แกะสลักด้วยหินก้อนเดียว และมีมติให้ร้านศักดิ์ศิลาพานิช ชลบุรี เป็นผู้ควบคุมการแกะสลักหิน โดยกองทัพอากาศเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของการควบคุมงานกองทัพอากาศ จึงได้ทำสัญญาจ้างเหมาให้ร้านศักดิ์ศิลาพานิช เป็นผู้รับจ้างในราคา 1,000,000 บาท แบ่งการใช้จ่ายเป็นเงิน 4 งวด

งวดที่ 1 เมื่อทำสัญญาและจัดเตรียมหินเสร็จ 300,000 บาท
งวดที่ 2 เมื่อแกะสลักภาพที่ 1 เสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน 2538 300,000 บาท
งวดที่ 3 เมื่อแกะสลักภาพที่ 2 เสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2538 300,000 บาท
งวดที่ 4 เมื่อทำงานส่วนที่เหลือเสร็จตามแผน 100,000 บาท

  ขั้นตอนที่ 3 การจัดเตรียมหิน เมื่อคณะอนุกรรมการฯ ตกลงใจที่จะแกะสลักภาพด้วยหินก้อนเดียวแล้ว ผู้แทนกองทัพอากาศ จึงได้นำเสนอคณะเจ้าหน้าที่ของกรมช่างทหารอากาศ และกรมขนส่งทหารอากาศ พร้อมด้วยผู้รับเหมาไปสำรวจภาพเหมืองหินและเส้นทางการเคลื่อนย้ายเพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเตรียมหินและการขนย้ายหินมายังอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯก่อนที่จะทำสัญญาจ้าง จากการสำรวจพบว่า
  สภาพของเหมืองหินอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านไทยสามัคคี กิ่งอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นหินใหญ่มีส่วนเป็นลานหินพ้นเนินดินออกมาประมาณ 15 X 10 เมตร สูงประมาณ 2.50 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่พอ และได้คำนวณหาน้ำหนักของหินขนาด 8.20 X 1.70X 0.90 เมตร แล้ว จะหนักประมาณ 32 ตัน การตัดหินทำได้ 2 วิธี คือ การเจาะหินเป็นแนวตามขนาดที่ต้องการดีดหินออกจากกัน ส่วนอีกวีหนึ่งนั้น ตัดโดยใช้สายพานเพชรตัด การตัดโดยวิธีแรกจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ค่าใช้จ่ายถูกมาก แต่ไม่แน่ใจว่าแผ่นหินที่ตัดออกมานั้นจะมีการร้าวหรือไม่ ส่วนการตัดโดยใช้สายสะพานเล็กนั้น จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ผู้รับเหมาจะต้องเสียค่าเช่าเครื่องตัดและจ้างเจ้าหน้าที่เป็นเงิน 180,000 บาท แต่หินที่ตัดจะเรียบ มีโอกาสที่จะร้าวจากการตัดน้อย และสามารถตรวจดูรอยร้าวได้ด้วยสายตาได้ง่ายกว่าวิธีแรก การตัดหินทั้ง 2 วิธี จะต้องเปิดหน้าหินด้านข้างและจะต้องทำทางให้รถพ่วงแคร่ต่ำระวางบรรทุกไม่ต่ำว่า 40 ตัน ลงไปบรรทุกหิน ทางในช่วงนี้จะมีความยาวประมาณ 100 เมตร ความลาดชันประมาณ 20 องศา การยกหินขึ้นบรรทุกรถ จะต้องให้รถยกขนาด 45 ตัน 2 คัน ยกหัวท้าย เนื่องจากพื้นที่จำกัด รถยกยื่นงวงออกไปมาก ใช้คันเดียวจะไม่ปลอดภัย
  สภาพเส้นทางที่แยกจากทางหลวงสายกบินทร์บุรี – นครราชสีมา เข้าไปยังเหมืองหิน เป็นทางสาธารณะระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ผิวจราจรลาดยาวถึงหมู่ไทยสามัคคี จากนั้นเป็นถนนลูกรังระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร มีสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้างลำรางสาธารณะอยู่ 1 แห่ง ขณะทำการสำรวจในลำรางแห้ง แต่ดินยังเหลวอยู่ จากการสอบถามผู้ใหญ่บ้านทราบว่า สะพานรับน้ำหนังได้ไม่เกิน 25 ตัน แต่มีพื้นที่ที่สามารถทำทางเบี่ยงได้ โดยจะต้องปรับแต่งเสริมความแข็งแรง พื้นที่ช่วงที่ผ่านลำรางน้ำเล็กน้อยและการดำเนินการให้เสร็จในเดือนกุมภาพันธ์เพราะในเดือนมีนาคมมักจะมีฝนตก ทำให้ใช้ทางเบี่ยงไม่ได้ไปจนถึงเดือนเมษายน
  เพื่อให้ได้หินที่มั่นใจว่าจะไม่มีรอยร้าวและสามารถเคลื่อนย้ายมายังอุทยานฯได้ ในช่วงเวลาที่สามารถใช้ทางเบี่ยงได้ จึงได้ทำความตกลงให้ผู้รับเหมาตัดหินด้วยการใช้สายสะพานเพชร ในราคาที่เสนอไว้เดิม และให้กรมช่างโยธาทหารอากาศ ทำการปิดหน้าดินและทำทางให้รถพ่วงระวางบรรทุก 40 ตัน ลงไปบรรทุกหิน รวมทั้งทำทางเบี่ยงให้มีความแข็งแรงและปลอดภัยพร้อมทั้งขอให้กองบิน 1 ติดต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ตัดและการขนย้ายหินเป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติและขอให้จัดบรรทุกน้ำ 1 คัน สำหรับใช้หล่อเลี้ยงระบายความร้อนสายพานตัดหินและบริการแก่ชาวบ้านที่กำลังขาดแคลนน้ำสำหรับการบริโภค การตัดหินและการเตรียมพื้นที่และเส้นทางสำหรับการเคลื่อนย้ายหินเสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่จะทำการเคลื่อนย้ายได้ตั้งแต่ วันที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2538 เป็นต้นไป
  การเคลื่อนย้ายหินมีความยุ่งยากพอสมควร เนื่องจากหินมีความยาวถึง 8 เมตร หนักถึง 35 ตัน ต้องเคลื่อนย้ายโดยใช้ทางเบี่ยง และเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในเวลากลางคืน เมื่อถึงทางเข้าอุทยานต้องถ่ายหินบรรทุกที่มีขนาดเล็กลงเนื่องจากทางเข้าเป็นซอยแคบ มีอาคารปลูกชิดขอบทาง และเมื่อเข้าถึงอุทยานฯแล้ว การที่จะเคลื่อนย้ายหินเข้าไปตั้งบนแท่นฐานมีวิธีปลอดภัยเพียงวิธีเดียว คือ ต้องให้รถบรรทุกไปได้ถึงบริเวณแท่นฐาน แล้วใช้รถยกยกหินนั้นวางบนแท่นฐานจึงต้องทุบรั้วด้านข้างออก 2 ช่อง และทำถนนให้รถบรรทุกหินและรถยกเข้าถึงฐานได้ โดยไม่ก่อความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ แต่เมื่อเคลื่อนย้ายหินในอุทยานในเดือน กุมภาพันธ์ 2538 แท่นฐานยังก่อสร้างไม่เสร็จ จึงต้องรอยกหินไว้หน้าอุทยานจนถึงวันที่ 8 มีนาคม 2538 จึงได้เคลื่อนย้ายขึ้นติดตั้งเสร็จ โดยได้รับความร่วมมือช่วยเหลือได้อย่างดีมาก
  รถยกเข้าอุทยานได้รับความปลอดภัย นอกจากนั้นยังรับการสนับสนุนจากกรมช่างโยธาทหารอากาศการขนส่งทหารอากาศและกองบิน 1ในการทำทางเบี่ยงเสริมความเข็งแรงของทางเบี่ยงในช่วงข้ามลำรางด้วยเหล็กปูสนามบิน ร่วมวางแผนและคำนวณการเคลื่อนย้ายด้วยความละเอียดรอบคอบ คณะอนุกรรมการ มีความประทับใจในการเข้าร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนเป็นอย่างยิ่ง
ขั้นตอนที่ 4 การจัดทำภาพต้นแบบ ด้วยการปั้มภาพด้วยดินเหนียวของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรประกอบด้วยช่างปั้น ได้แก่ นายโสพิศ พุทธรักษ์ ประติกากร นายภาดร เชิดชู ประติมากร และนายประสพสุข รัตน์ใหม่ ประติมากร อยู่ในความควบคุมของนายชิน ประสงค์ ผู้อำนวยการส่วนประติมากรรม ทั้งนี้ได้ดำเนินการปั้นขนาดเท่าจริงทีละด้านที่ดินเหนียวที่มีความละเอียดเป็นพิเศษ ขนาดเท่าจริงแต่เดือนพฤศจิกายน 2537 โดยเริ่มจากกระบวนการไหว้สาแม้ฟ้าหลวงก่อน เมื่อเสร็จด้านแรกจึงเริ่มด้านที่สองในเดือนมกราคม 2538 ทั้งนี้เวลาปั้นแบบเท่าจริง
  หลังจากปั้นแบบนูนสูงด้วยดินเหนียวเสร็จ จึงหล่อต้นแบบด้วยปูนปลาสเตอร์ ทำเป็นแม่พิมพ์สำหรับกรมวิธีการหล่อปูนปลาสเตอร์ ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ต้องให้ความละเอียดเป็นพิเศษ เนื่องจากชิ้นงานมีขนาดใหญ่ ก่อนการหล่อปูนจะต้องแบ่งภาพออกเป็นสามส่วน โดยการกั้นแผ่นสังกะสีชนิดบางให้พอดีกับรอยต่อของภาพการที่ภาพมีรายละเอียดซับซ้อน จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิค กล่าวคือ การผสมสีลงไปในการหล่อปูนชั้นแรกเพื่อเป็นจุดสังเกตตอนทุบแบบพิมพ์ว่าใกล้ถึงเนื้อปูนที่เป็นต้นแบบ ส่วนลักษณะปูนที่ใช้หล่อนี้ต้องผสมเหลวพอควร เพราะเมื่อสะบัดปูนไปที่ภาพต้นแบบ ปูนจะเกาะติดรายละเอียดทุกส่วนของภาพได้อย่างทั่วถึง
  ลำดับต่อไปจึงเพิ่มความหนาของแม่พิมพ์ จนกระทั่งแม่พิมพ์มีความหนาได้ที่ แล้วทำโครงเหล็กยึดแม่พิมพ์แข็งแรงแน่นหนา นำแม่พิมพ์แต่ละส่วนมาหล่อปูนปลาสเตอร์ทำรูปต้นแบบ และนำทั้งสามส่วนมาประกอบเป็นชิ้นเดียวกัน เพื่อใช้เป็นแบบแกะสลัก

  ขั้นตอนที่ 5 การแกะสลักหิน เป็นฝีมือช่างจากร้านศักดิ์ศิลาพานิช จังหวัดชลบุรี ซึ่งกองทัพอากาศดำเนินการจัดหาและจ้างมาดำเนินการภายใต้การควบคุมกันระหว่างกองทัพอากาศและกรมศิลปากร เจ้าหน้าที่ได้ขนย้ายแม่แบบที่หล่อจากปูนปาสเตอร์มาประกอบเข้าเป็นแผ่นเดียวกัน ณ บริเวณอุทยานฯ ซึ่งเป็นสถานที่ดำเนินการแกะสลักหิน พร้อมทั้งทาสีแม่แบบให้เข้มขึ้นเพื่อช่างแกะหินสามารถสังเกตรายละเอียดของภาพได้ชัดเจน ต่อจากนั้นนำดินน้ำมันเปิดส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ของแม่แบบ ทั้งนี้เพราะให้ง่ายต่อการวัดสเกลและการแกะแบบร่างอย่างคร่าว ๆ ก่อน
  อนึ่ง การทำงานในขั้นตอนที่ห้านี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์สมชาย เถาทอง ปฏิมากรผู้มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานการแกะสลักหินที่มีชื่อเสียงเป็นที่ปรึกษาช่วยดูแล ควบคุมการทำแบบและวางแผนการทำงาน ดังนี้

1. ปรับระดับความลึกของภาพ เป็น 3 ระดับ การแกะสลักแผ่นหินที่ขนาดใหญ่และมีความยาวเช่นนี้ จำเป็นต้องตั้งวางแผ่นหินบนฐานตั้งแสดงจริงแล้วลงมือแกะสลักตามแนวที่ตั้ง เริ่มจากการขยายเส้นขนานเท่าจริงบนกระดาษ เพื่อทำเป็นแม่พิมพ์สเตนซิล เจาะส่วนของภาพที่ลึกที่สุดออกทาบแม่พิมพ์บนหน้าหินแล้วพ่นสีสเปรย์ในส่วนที่เจาะไว้ เสร็จแล้วช่างแกะสลักหินส่วนที่มีสีพ่นออกมาวัดดูให้ได้ความลึกเท่ากันกับแบบปูนปั้น และใช้แม่พิมพ์สเตนซิลที่เจาะส่วนของภาพที่มีระดับความลึกรองลงมา 2 ระดับ ทำเช่นเดียวกันนี้ให้ได้ระดับความลึกของภาพเป็น 3 ระดับ เมื่อเสร็จแล้วจะมองเห็นเค้าโครงและระดับความตื้นของกลุ่มภาพได้ชัดเจน

2. ตกแต่งส่วนภาพในแต่ละกลุ่มให้เหมือนแบบ เมื่อภาพสลักมีความลึกได้ระดับแล้วจะเกิดกลุ่มของภาพขึ้น ในขั้นตอนนี้ได้ใช้แม่พิมพ์สเตนซิล เจาะส่วนที่เป็นรูปร่างและทำท่าทางของภาพเป็น 2 ชุด คือ ชุดหนึ่งให้สลักภาพส่วนที่ลึกไปแนวซ้าย และอีกส่วนหนึ่งให้สลักภาพส่วนที่ลาดลึกไปในแนวขวาเพื่อให้ได้ภาพคนหรือวัตถุแต่ละสิ่งเป็นรูปเหลี่ยมมีทิศทางและสัดส่วนที่ถูกต้องของภาพและมีเนื้อหินพอสำหรับแกะรายละเอียด ในขั้นตอนนี้เป็นการรักษาไม่ให้รายละเอียดของคนและอิริยาบถต่างๆ ผิดจริงไป ซึ่งสามารถควบคุมการแกะสลักได้เป็นอย่างดี เมื่อช่างแกะสลักมีความเข้าใจในการทำงานทั้ง 2 ขั้นนี้แล้ว ต่อมาการแกะสลักภาพอีกด้านหนึ่งได้ลดขั้นตอนที่ 2 ออกโดยไม่ต้องทำแม่พิมพ์ สเตนซิล แต่ใช้ช่างเขียน เขียนลงบนหินได้เลย และใช้ดินน้ำมันปิดทับรายละเอียดภาพต้นแบบให้เห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมเป็นแบบให้ช่างแกะสลัก ทำให้ลดเวลาการทำงานลงมาได้มาก

3.  ตกแต่งลวดลายขั้นต้น เมื่อกลุ่มภาพมีสัดส่วนและท่าทางถูกต้องแล้ว ช่างเขียนจะเขียนลายเส้นหน้าตา เสื้อผ้า รายละเอียดอื่น ๆ ลงบนหิน เพื่อให้ช่างแกะสลักได้สลักตาม ในขั้นตอนนี้ช่างเขียนจำต้องทำงานควบคู่ไปกับช่างสลักเพื่อคอยเติมลายเส้น เมื่อช่างสลักได้สลักลบออกไป วิธีการทำงานควบคู่กันไปในหน้างาน ทำให้ช่างสลักสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้ภาพทั้งหมดสมบูรณ์ถึง 80%

4.  การตกแต่งรายละเอียดขั้นสุดท้าย เป็นการเก็บรายละเอียด เช่น หน้าตาของคน ซึ่งได้ให้ช่างสลักที่มีฝีมือเพียง 2 คน ทำการแกะสลัก สรุปได้ว่า การทำงานใน 4 ขั้นตอนนี้ เมื่อสำเร็จ ภาพสลักทั้งภาพฝีมือการสลักที่สม่ำเสมอเหมือนกับงานที่ทำด้วยช่างเพียงคนเดียว ต่อจากนั้นจึงตกแต่งฐานด้วยการแกะลวดลายให้เรียบร้อยสวยงาม

  เมื่อการแกะสลักภาพทั้งสองด้านลุล่วง ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้มีมติเป็นชอบให้แกะสลักสีสันแผ่นหินทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งแกะอักษรย่อพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ภายใต้พระมหาภิชัยมงกุฎ มีรัศมีและเลข 9 ด้านล่าง แกะสลักหินเป็นคำประพันธ์ร้อยกรองเกี่ยวกับแนวพระราชดำริในการจัดสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ ซึ่งประพันธ์โดยนายชำนาญ แย้มผกา วิทยากรพิเศษ กองงานในพระองค์ สำนักราชเลขาธิการดังนี้

 โปรดเกล้าฯ  ให้อนุรักษ์เป็นหลักฐาน

และสร้างเป็นอุทยานโดยถวิล
เฉลิมพระเกียรติพระราชชนนีศรีนครินทร์
ปองประโยชน์ทั้งสิ้นแก่ปวงชน
และเพื่อผู้สนใจใคร่ศึกษา
พระราชประวัติบรรดาอนุสนธิ์
พระราชกิจสฤษฎิ์ไว้ในสากล
ดั่งรอยพระบาทยุคลอันฝากไว้
ขอให้อุทยานสถานนี้
อันใกล้ที่เคยประทับในสมัย
จงสำเร็จประโยชน์แท้แก่ชาวไทย
เฉลิมพระเกียรติคุณไปนิรันดร


                                               21 มกราคม  พุทธศักราช 2540

  ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้น แกะสลักอักษรพระนามภิไธย ส.ว. ด้านล่างแกะสลักคำประพันธ์ร้อยกรองอาเศียรวาทเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชะนี จากการประพันธ์ของ ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา

แม่ฟ้าหลวงดวงประทีปชาวป่าเขา
และเหล่าทวยหาญไทยในไพรเถื่อน
ไม่มีวันที่พระจะลืมเลือน
ผ่องเพื่อนผู้ทุกข์ยากลำบากลำบน
ทรงสละสิ่งสินยอมสิ้นสุข
เสด็จประเทาทุกข์ไทยไม่เบื่อบ่น
พระคุณเทียบแผ่นพื้นภูวดล
เหลือล้นถ้อยคำร่ำพรรณนา
บัดนี้โอ้อนิจจาแม่ฟ้าหลวง
เสด็จทิ้งลูกทั้งปวงไว้ใต้หล้า
แม้นชาติหน้ามีจริงดังวาจา
ขอเกิดใหม่ใต้บาทาแม่ฟ้าเทอญ

  ที่ของล่างสุดแกะสลักเป็นตรากองทัพอากาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการทำภาพแกะสลักหินทราย ประติการกรรมชิ้นสำคัญในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ มาโดยตลอด เมื่อกองทัพอากาศได้ทำการเก็บงาน ทำความสะอาดแผ่นหินแกะสลักอีกครั้งหนึ่งแล้ว กรมศิลปากรจึงดำเนินการอาบน้ำยาเคมีรักษาแผ่นหินให้มีความคงทนอีกชั้นหนึ่ง