บ้านจำลอง 


ในบริเวณสวนด้านใน มีบ้านจำลองที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเคยประทับ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์เป็นเรือนแถวที่จำลองมาเพียง 1 ห้อง ด้านในบ้านจำลอง จัดองค์ประกอบตามหนังสือ "แม่เล่าให้ฟัง" พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งคณะอนุกรรมการฝ่ายออกแบบจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ มอบหมายให้นางสาวอัจฉรา ถาวรมาศ มัณฑนากร กรมศิลปากร ดำเนินการทำหุ่นบ้านจำลอง นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตรเพื่อขอพระราชวินิจฉัย ในครั้งแรกสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีรับสั่งว่า “บ้าน” ที่ทรงเคยประทับนั้นไม่ใหญ่โตเหมือนแบบที่มาขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เมื่อกรมศิลปากรแก้ไขถูกต้องตามพระราชประสงค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างอาคารจำลองที่ประทับหลังนี้แยกต่างหากอีกหลังหนึ่ง เนื่องจากแนวคิดเดิมที่กำหนดจัดแสดงภายในอาคารพิพิธภัณฑ์นั้น สัดส่วนของบ้านไม่ใกล้เคียงกับของเดิม มุมมองไม่ชัดเจน “บ้าน” ในหนังสือ "แม่เล่าให้ฟัง"  
พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งทรงกล่าวถึงนั้น “...เมื่อจำความได้แม่ก็อยู่ที่ธนบุรีแล้ว ที่ซอยซึ่งปัจจุบันเป็นซอยวัดอนงค์ “บ้าน” จะเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่ก่อด้วยอิฐ หลังคาเป็นกระเบื้องและประกอบด้วยหลายชุด (Unit) ด้านหนึ่งของ “บ้าน” จะเป็นส่วนหนึ่งของ “บ้าน” มี 4-5 ชุด ซึ่งมีคนอยู่ อีกด้านหนึ่งพังไปแล้วและร้าง “บ้าน” ที่อยู่นั้นเก่าพอใช้และอยู่ในสภาพที่ไม่ดี เพราะไม่มีการซ่อมแซมเลย บ้านนั้นเป็นบ้านเช่า แต่เช่าเพียงกำแพง ผนังและหลังคา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไม้ เช่นพื้นนั้นผู้เช่านำมาวางเอง...” และหน้าบ้านมีระเบียง พื้นไม่ปิดข้างๆ และมีหลังคามุงจาก ส่วนนอก ก่อนจะถึงถนนเป็นอิฐและจึงเป็นถนน เมื่อเข้าไปในบ้านแล้วจะมีห้องโล่ง ๆ ด้านขวามือมียกพื้นเป็นไม้ทั้งสองห้อง ห้องพระและห้องประกอบอาชีพของพ่อแม่ ทุกเช้าผู้ใหญ่จะถวายข้าวพระพุทธรูปและหลังเที่ยงแม่จะเป็นผู้สวด “เสสังมังคะลังยาจามิ” เพื่อลาของถวายเพื่อนำของบรรจุอยู่ในถ้วยชามเล็ก ๆ มากิน ถัดไปซึ่งมีห้องเป็นห้องนอนและข้างหลังจะมีห้องครัวยาวตลอด ซึ่งกันด้วยกำแพงนี้มีที่โล่ง ๆ ซึ่งจะไปถึงได้ถ้าอ้อมไปเพราะทางไม่มีประตูออก ในบ้านไม่มีห้องน้ำ การอาบน้ำนั้นอาบกันที่บ้าน ตุ่มน้ำจะตั้งที่ระเบียงหรือไปอาบกันที่คลองสมเด็จเจ้าพระยา...”

  ลักษณะบ้านจำลองที่สร้างขึ้น ณ มุมหนึ่งของสวนแห่งนี้ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน มีชานระเบียงด้านหน้าบ้าน และด้านข้างปูด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ชั้นลดหลังคาด้านหน้ามุงจาก ผนังด้านข้างกรุด้วยกระจกใส เพื่อให้ผู้เข้าชมมองเห็นภายในได้ มีทางเข้าบ้าน ประตูด้านหน้าทางเดียว เมื่อเข้าไปในบ้านแล้วจะเห็นทางเดินถึงหลังบ้าน ด้านขวามียกพื้นไม้และใช้ไม้ปิดแบ่งห้องเป็น 3 ตอน มีห้องพระและห้องทำทองซึ่งเป็นที่ประกอบอาชีพของพระชนกชู ถัดไปเป็นห้องนอน ด้านหลังเป็นห้องครัวตลอดกำแพงหลังบ้าน ภายในบ้านนายสมชาย ณ นครพนม ภัณฑรักษ์ ผู้รับผิดชอบในการจัดแสดง ได้จัดหาสิ่งของเครื่องใช้มาจัดแสดงแต่ละห้องตามสภาพความเป็นอยู่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 6